เปิดผลวิจัยใหม่ คนไทยนั่งนานกว่า 7 ชั่วโมง/วัน เสี่ยงโรค แนะเพิ่มกิจกรรมทางกาย

เปิดผลวิจัยใหม่ คนไทยนั่งนานกว่า 7 ชั่วโมง/วัน เสี่ยงโรค แนะเพิ่มกิจกรรมทางกาย

วันนี้ (27 มีนาคม 2566) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศไทย (IHPP) ศึกษาวิจัยสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย โดยวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพคนไทยในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในผู้ที่มีอายุ 18 – 80 ปี จำนวน 78,717 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 76 มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยการนั่งตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน และร้อยละ 72 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่ใช้แรงกายลดลง เช่น การเปลี่ยนจากการทำงานภาคเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม เป็นรูปแบบการนั่งในห้องทำงานแทน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานต่ำ

“นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า คนไทยมีการทดแทนการขยับร่างกายที่น้อยในการทำงาน ด้วยการ
ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมนันทนาการในยามว่างแทน โดยเฉพาะคนเมือง พบว่า มีสัดส่วนกิจกรรมทางกายในนันทนาการ และการเดินทางมากกว่าคนชนบท เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพในการเข้าถึงสถานที่นันทนาการ โครงสร้างพื้นฐานในการเดิน อาทิ ทางเดินเท้า การผังเมือง รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ ในเมืองดีกว่าชนบท ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ จะลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement

ทางด้าน นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการ IHPP เปิดเผยถึงผลการศึกษาที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ผู้หญิงมีอัตราส่วนการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบปรากฎการณ์นี้ จากการสำรวจระดับกิจกรรมทางกายในประเทศไทยมากว่า 30 ปี แสดงถึงความตื่นตัวต่อการขยับร่างกายในชีวิตประจำวันรวมถึงการออกกำลังกายในเพศหญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ การศึกษาครั้งนี้ สำนักงานสถิติได้เก็บข้อมูลทุกจังหวัดในประเทศไทยในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ต่างจากช่วงปกติก่อนมีการระบาดของโควิด -19 โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการวิจัยได้ที่ https://doi.org/10.1123/jpah.2022-0528

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image