อ.เศรษฐศาสตร์ หวั่นจนล้นปท. ลดเบี้ยสูงอายุ=เดินถอยหลัง ยันให้เดือนละ 3,000 ยังน้อยกว่า ‘บำนาญขรก.’

อ.เศรษฐศาสตร์ ห่วงอีก 10-20 ปีข้างหน้า ‘จนล้นประเทศ’ ชี้ ลดเบี้ยสูงอายุ = ไทยเดินถอยหลัง ยันเงินยังชีพเดือนละ 3,000 ยังใช้งบน้อยกว่า ‘บำนาญข้าราชการ’

สืบเนื่องกรณี กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ส่งผลให้เกิดกระแสคัดค้านจากประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ อาทิ พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย ในการที่ผู้สูงอายุจะต้องพิสูจน์ความจน จึงจะได้รับเงินยังชีพ 600/เดือน นั้น

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม แฟนเพจ ‘บำนาญแห่งชาติ’ เผยแพร่บทความ “ประเทศไทยกำลังเดินถอยหลังเรื่องความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ” ที่เขียนโดย ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแสดงความเห็นถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ความว่า

เหตุผลหลักที่ต้องการตัดลดงบประมาณ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ก็เพราะว่า รัฐบาลไม่ต้องการแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ นั่นคือ “ไม่ต้องการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น” ทั้งที่มีข้อเสนอเรียกร้องจากทั้งจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง ก็ถูกตีตก หรือรัฐบาลเจตนานั่งทับไว้ เพราะกลัวว่าคนกลุ่มน้อยที่กอบโกยผลประโยชน์บนยอดปีรามิด จะเสียประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงว่า อนาคตประเทศไทยจะอยู่กันต่อไปอย่างไร

Advertisement

“ศูนย์กลางเครือข่ายระบอบอำนาจของไทยจะไม่คิดแบ่งปันออกมาให้คนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างเป็นธรรมบ้างหรือ? ไม่กี่ตระกูลกอบโกยไปอย่างมหาศาลในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการสมประโยชน์กันของเครือข่าย กลุ่มทุน และภาครัฐที่ยึดกุมอำนาจอยู่ โดยมีการควบคุมความคิดผ่านสื่อที่สนับสนุนจีนและรัสเซีย จนทำให้กลุ่มคนเสียงดังในสังคมมีข้อมูลที่บิดเบือน เช่น ทั้งประเทศจ่ายภาษีแค่ 4 ล้านคน

แน่นอนว่า เราไม่สามารถแยกเรื่องโครงสร้างระบอบอุปถัมภ์ออกจากการเมือง เรื่องจัดตั้งรัฐบาล และการกดขี่ขูดรีดแรงงานและการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจจากคนไทย ดังนั้น คงจะไม่แปลกใจหากวันหนึ่งความโกรธแค้นของประชาชนเรื่องความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม จะปะทุออกมาในที่สุด

ประเด็นความสัมพันธ์เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความขัดแย้งทางการเมือง” นี้ ผู้เขียนได้เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนในการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จึงขอนำเรียนตรงนี้อีกครั้งด้วยความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้โปรดตระหนักว่า ตามประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้พิสูจน์แล้ว “เมื่อความเหลื่อมล้ำรุนแรงมาก สักวันหนึ่งก็ต้องเผชิญวิกฤตขัดแย้งรุนแรง”

Advertisement

เรื่องระบบสวัสดิการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ แม้จะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเป็นเบี้ยยังชีพเดือนละ 3,000 บาท ก็ยังใช้งบประมาณน้อยกว่างบบำนาญข้าราชการในระยะยาว ในที่สุดแล้ว เมื่องบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่ากังวล เราก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมากมาย เพื่อให้มีงบประมาณสามารถคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุได้ทั้งสังคม แต่ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลไม่ยอมทำ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายตัดลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จึงเป็นการเดินถอยหลังของประเทศ

ท้ายสุดนี้ ขอชวนอ่านบทความหรือการนำเสนอก่อนหน้านี้ของผู้เขียนเองเกี่ยวเรื่องความยากจนผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ตรงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อว่า จะปล่อยให้ประเทศเต็มไปด้วยคนจนผู้สูงอายุเต็มประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และเต็มไปด้วยปัญหาสังคมที่เกิดจากคนจนล้นประเทศ หรือ รัฐบาลอยากจะวางรากฐานมั่นคงแข็งแรงให้เป็นสังคมที่ปรองดองและเป็นธรรม

ชวนอ่านเพิ่มเติม :

อ่านข่าว  :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image