ผอ.สคอ.เผยมอบอำนาจ สสจ.พิษณุโลก เอาผิด ‘หมออ๋อง’ โพสต์เบียร์แล้ว

ผอ.สคอ.เผยมอบอำนาจ สสจ.พิษณุโลก เอาผิด “หมออ๋อง” โพสต์เบียร์แล้ว

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการดำเนินการทางกฎหมายกับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่มีการโพสต์ภาพและข้อความสนับสนุนคราฟต์เบียร์ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย ว่า กรณีนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิษณุโลก จะเป็นผู้ดำเนินการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากกรมควบคุมโรค เนื่องจากมีการไปร้องเรียนต่อทางจังหวัดด้วย

“เมื่อเกิดเหตุการณ์พร้อม หากเราไปทำก็อาจจะซ้ำซ้อนกัน ซึ่งจริงๆ ส่วนงานใดทำก็ได้ ตอนนี้จึงได้มอบหมายให้จังหวัดดำเนินการ ซึ่งทราบว่าทาง สสจ.พิษณุโลกได้ทำหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเพื่อให้รับทราบเรื่องนี้ รวมทั้งทำหนังสือถึงสรรพสามิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย ซึ่งได้มีการพิจารณาเบื้องต้นแล้วว่า เข้าข่ายมีความผิดเหมือนที่เราพิจารณา ทางนั้นก็จะดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป พอรวบรวมประจักษ์พยาน หลักฐานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย ก็อาจเชิญตัว ส.ส.คนดังกล่าวไปให้ข้อมูลต่างๆ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย แต่ตรงนี้เป็นการมอบอำนาจไปยังจังหวัดให้เป็นผู้ดำเนินการ แต่ถ้าเมื่อใด จังหวัดคิดว่าเป็นปัญหา ไม่สามารถดำเนินการ เราก็ยินดีเข้าไปร่วมด้วยช่วยทำงานร่วมกันต่อไป” นพ.นิพนธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เคยออกมาหาเสียง โดยพูดถึงสุราพื้นบ้านจนขายดีหมดเกลี้ยง แต่อยู่ระหว่างการตีความว่าเข้าข่ายการกระทำผิดหรือไม่ มีความคืบหน้าในการพิจารณาแล้วหรือไม่ นพ.นิพนธ์กล่าวว่า ส่วนนั้นยังก้ำกึ่งบางเรื่อง เพราะต่างกันกับเคสนี้ตรงที่ไม่ได้เห็นตราสินค้า ฉะนั้น จึงมีความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดยังก้ำกึ่งกันอยู่ เบื้องต้นจึงมอบส่วนที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้มีความชัดเจนว่ามันเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ จึงอาจมีขั้นตอนเรื่องเวลานิดนึง แต่ระยะเวลาที่เกี่ยวข้องถ้าพิจารณามีอายุความเกิน 5 ปี ซึ่งไม่สายเกินไป

Advertisement

“แต่สุดท้ายตอนดำเนินคดีต้องชัดเจนว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร ต่างจากเคสนี้ ซึ่งเห็นชัดเจน เราจึงดำเนินการได้เลย ซึ่งก็ต้องให้เวลาในส่วนของคณะอนุฯ เพราะประธานที่เป็นอัยการก็นัดและติดตาม เราพยายามรวบรวมให้เร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น” นายพิธากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image