สธ.- สรพ.ผนึกภาคีเครือข่ายสุขภาพ 16 องค์กร ตั้งเป้า 3P ดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วย

สธ.- สรพ.ผนึกภาคีเครือข่ายสุขภาพ 16 องค์กร ตั้งเป้า 3P ดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วย

วันนี้ (17 กันยายน 2566) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยฯ” และประกาศ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรและประชาชน ระยะที่ 2 : 3P Safety Strategy” พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 3P Safety Hospital ปี 2566 จำนวน 107 แห่ง เนื่องใน “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5 (The 5th World Patient Safety Day) และ “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7 (The 7th Thailand Patient and Personnel Safety Day) ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety จัดโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ร่วมกับ สธ. และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ 16 องค์กร ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร

นายสันติ กล่าวว่า ปีนี้องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในทุกมิติเรื่องความปลอดภัยของตนเอง รวมถึงครอบครัวและญาติในการดูแลให้มีความปลอดภัย พลิกแนวคิดจากการออกแบบการดูแลเพื่อผู้ป่วย เป็นการออกแบบการดูแลร่วมกับผู้ป่วย หรือ Engaging patients for patient safety สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ครอบครัว และประชาชน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ Global Patient Safety Action Plan 2021-2030 ที่มีเป้าหมายลดความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในระบบบริการ เปิดกว้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและประชาชน ตั้งแต่การปฏิบัติโดยการเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ไปจนถึงระดับนโยบาย โดยร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งการออกแบบการบริการในทุกมิติเรื่องความปลอดภัย จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข ญาติและครอบครัว

Advertisement

“ขอชื่นชมสถานพยาบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารและทีมงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งการที่ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนนโยบาย Patient and Personnel Safety หรือ 2P Safety มาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ปี และประกาศความพร้อมที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ระยะที่ 2 โดยเพิ่มความปลอดภัยไปถึงประชาชน เป็น Patient, Personnel and People Safety หรือ 3P Safety เพื่อเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคนนั้น ผมพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ 3P Safety เป็นประเทศแรกในโลกอีกครั้ง” นายสันติ กล่าว

Advertisement

ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในผู้ป่วยและบุคลากรมาตั้งแต่ต้น มีนโยบาย Patient and Personnel Safety มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระยะที่ 1 พ.ศ.2561-2565 และ มีเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคคลากรระดับประเทศ ซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติเป็น SIMPLE โดยมีการพัฒนาและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติกับสถานพยาบาลทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการจำนวน 950 โรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมโครงการและรับใบประกาศนียบัตรเป็นโรงพยาบาล 2P Safety Hospital จำนวน 107 โรงพยาบาล โดยทุกโรงพยาบาลมีการประกาศเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ทั้งนี้ ประเทศไทยนำแนวทางปฏิบัติ 2P Safety ไปประยุกต์ใช้และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการรายงานอุบัติการณ์เข้าสู่ระบบ National Reporting and Learning System เพื่อเฝ้าระวังและนำอุบัติการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขด้วย

“ความปลอดภัย เป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพที่เชิญชวนทุกสถานพยาบาลมาร่วมดำเนินการกันในปีนี้ โดยอาศัยองค์ประกอบทั้งผู้ป่วย บุคลากร ประชาชนหรือญาติผู้ดูแล เป็น 3P คือ Patient Personal และ People ผสมผสานในการพัฒนาระบบที่คำนึงถึงทั้งผู้ให้ ผู้รับบริการและญาติ เป็นการขับเคลื่อนที่มีพลังและมีการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงพลังที่ขยายเชื่อมต่อสังคมและประชาชนในการร่วมมือกันเพื่อความปลอดภัยในบริการสุขภาพ และประเทศไทยได้ประกาศการขับเคลื่อนที่ก้าวล้ำจาก Patient and Personnel Safety โดยเพิ่มความสำคัญของประชาชน หรือ People เป็น Patient, Personnel and People Safety หรือ 3P Safety ในเวทีประชุมรัฐมนตรีโลกที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ด้วย” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า ได้มีการวางแนวทางผ่านยุทธศาสตร์ 3P Safety strategy ซึ่งจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.ต่อไป โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญความสำเร็จของการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประเทศต่างๆ ทั่วโลก คือ การได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากผู้นำระดับสูง ทำให้การประกาศนโยบาย การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ผ่านมา สามารถผนึกกำลังองค์กรหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม การประกาศนโยบายเพิ่มเป็น 3P Safety จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่นำไปสู่การสร้างความปลอดภัยและสังคมสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วมเพื่อทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยเริ่มต้นจากสถานพยาบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image