‘ชลน่าน’ กำชับทั่ว ปท.คุม ‘ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก’ ชี้อัตราป่วยพุ่งสูง

“ชลน่าน” กำชับทั่ว ปท.คุม “ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก” ชี้อัตราป่วยพุ่งสูง

วันนี้ (21 กันยายน 2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสถานการณ์โรคสำคัญที่กำลังมีการระบาดในขณะนี้ 2 โรค คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่  9 กันยายน 2566 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 154,829 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 233.95 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.001 ทั้งนี้ หลังจากมีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ประชาชนผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยลง พบว่าอัตราการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ที่มีผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมา ถึง 3 เท่า สธ.ได้รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม โรคอ้วน หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป พร้อมทั้งกำหนดมาตรการและประสานความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรค โดยมีหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แจ้งแนวทาง และขอความร่วมมือในการเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งในโรงเรียน สถานศึกษา เรือนจำ ทัณฑสถาน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ค่ายทหาร

นพ.ชลน่านกล่าวว่า อีกโรคที่มีการระบาดคือ โรคไข้เลือดออก ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 13 กันยายน 2566 มีผู้ป่วย 91,979 ราย อัตราป่วย 139.09 ต่อประชากรแสนคน ผู้เสียชีวิต 93 ราย จาก 44 จังหวัด อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 โดยพื้นที่อัตราป่วยสูงได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ประเด็นสำคัญ คือ พบอัตราป่วยสูงในเด็กอายุ 5-14 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี แต่อัตราป่วยตายกลับสูงในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 55-64 ปี อัตราป่วยตายสูงสุด ร้อยละ 0.21 รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี อัตราป่วยตายร้อยละ 0.17 ภาพรวมสรุปได้ว่า ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ที่เป็นไข้เลือดออกจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าเด็ก 2-3 เท่า เนื่องจากส่วนใหญ่เมื่อป่วยมักไปพบแพทย์และได้รับการรักษาช้าเกินไป ดังนั้น หากมีไข้ รับประทานยา 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ขอให้รีบไปพบแพทย์ ที่สำคัญ ห้ามซื้อยาชุด ไอบูโพรเฟน แอสไพริน หรือยากลุ่มเอ็นเสดมารับประทานเด็ดขาด

“สถานการณ์โรคไข้เลือดของประเทศไทยในปีนี้ค่อนข้างสูง และขณะนี้การระบาดเริ่มชะลอตัว แต่ยังพบผู้ป่วยต่อเนื่องในบางจังหวัด มาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ดีที่สุด คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ควบคู่ไปกับการกำจัดยุงตัวแก่ในพื้นที่ระบาด และป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพิ่มความร่วมมือในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่และสถานที่เสี่ยง เช่น โรงเรียน วัด ชุมชน และโรงงาน” นพ.ชลน่านกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image