“พิพัฒน์” ลั่น! เร่งอัพสกิลแรงงาน เสริมซอฟต์เพาเวอร์ บูสต์ท่องเที่ยว

‘พิพัฒน์’ ลั่น! เร่งอัพสกิลแรงงาน เสริมซอฟต์เพาเวอร์ บูสต์ท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายการยกระดับแรงงานภาคท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในงานประชุมสมาชิกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และสมาชิกสมาคมการท่องเที่ยว เข้าร่วม

นายพิพัฒน์กล่าวว่า กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานหลักดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ทั้งด้านการพัฒนากำลังแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำ ดูแลสวัสดิการ รวมทั้งสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงานได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพแรงงาน ให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านการท่องเที่ยว ด้วยการ Up skill และ Re skill แรงงาน ให้สามารถทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคท่องเที่ยวและบริการ และการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน

Advertisement

นายพิพัฒน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ส่งเสริมให้แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูง เติมเต็มทักษะด้านภาษาต่างประเทศ และส่งเสริม นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการหลักสูตรฝึกอบรม เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน การสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว นวดแผนไทย สปา งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ ฯลฯ บูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ด้านการท่องเที่ยวและบริการเพื่อสำรวจความต้องการแรงงานและการพัฒนาทักษะฝีมือในส่วนที่แรงงานยังขาดแคลนเพื่อพัฒนากำลังแรงงานภาคท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการปี 2566 กำลังแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำนวน 288,438 คน เป็นผู้มีงานทำ ร้อยละ 93.20 ผู้ผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถรักษาฐานรายได้ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 51,450.19 ล้านบาทต่อปี

“ใน ปี 2566 มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้ทำการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ ผู้ประกอบการ, ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมากกว่า 280,000 คน โดยในปี 2567 กระทรวงแรงงาน โดย กพร.ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ ผู้ประกอบการ, ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม จำนวน 400,000 คน” นายพิพัฒน์กล่าว

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

“พวกเรามีหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เศรษฐกิจจะไปได้ นายจ้างจะต้องไปได้ และลูกจ้างจะต้องอยู่ได้ สิ่งที่พวกเรากังวลคือ ค่าแรงขั้นต่ำ จะต้องเริ่มที่ 400 บาท เเละต้องขึ้นไป 600 บาท ผมยืนยันว่า ถ้าแรงงานที่ Up skill แล้ว เราจะไปหารือกับนายจ้าง ส่วนฝ่ายลูกจ้างที่ขอ 400 บาท ทุกคน ผมประกาศให้ได้ แต่ถ้าประกาศไปแล้วลูกจ้างจะตกงาน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีแน่นอน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าในแต่ละจังหวัดมีค่าแรงขั้นต่ำเท่าไร และในภาคอุตสาหกรรมค่าแรงขั้นต่ำแต่ละอาชีพ ก็ไม่เท่ากันเราต้องนำอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมาพิจารณาประกอบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องหารือกันทั้ง 3 ฝ่าย กระทรวงแรงงานมีหน้าที่ทำให้สมดุล และการประกาศขึ้นค่าแรงเป็นของขวัญในต้นปีหน้าแน่นอน แต่นายจ้างจะต้องไม่เดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีจะต้องไม่ล้มหายตายจากไปจากประเทศไทย เพราะเอสเอ็มอีมีแรงงานมากที่สุดในประเทศไทย ไม่ใช่โรงงานใหญ่ใหญ่ของเจ้าสัว” นายพิพัฒน์กล่าว

นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า ในส่วนแรงงานภาคบริการการท่องเที่ยวที่ขาดในวันนี้ ได้หารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อพัฒนาคนตั้งแต่ในวัยเรียน และจะมีการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงแรงงานจะผลิตกำลังคนเพื่อป้อนการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด และจะป้อนทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image