หวั่นนักจัดตั้งแรงงานกวาดเรียบตัวแทนบอร์ดประกันสังคม เตรียมเรียกผู้สมัครมาดูแสดงวิสัยทัศน์

หวั่นนักจัดตั้งแรงงานกวาดเรียบตัวแทนบอร์ดประกันสังคม ปลัดแรงงานเตรียมเรียกรายชื่อผู้สมัครมาดู-ดันจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์-เผยภูเก็ตบรรยากาศเงียบเหงาผู้ประกันจนมาลงทะเบียนหยิบมือ

 

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน  นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)ประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมที่ได้ปิดรับสมัครและปิดการลงทะเบียนสำหรับผู้ประกันตนที่ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้งไปตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

โดยมีผู้มาลงทะเบียน 9.4 แสนคน ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน จะนำรายชื่อผู้สมัครทั้งในส่วนของฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างมาดู เนื่องจากมีนักข่าวถามเรื่องการกำหนดอายุเกิน 70 ปีหรือไม่ ซึ่งไม่มีข้อห้าม แต่เหมือนเป็นการเปิดช่องทางให้คนเก่าที่เป็นกรรมการชุดเดิมเข้ามาเป็นบอร์ดได้อีก

Advertisement

“ที่มีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนน้อยอาจเป็นเพราะเขาไม่เห็นประโยชน์ของการมาใช้สิทธิ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกับเขา เพราะไม่เหมือนการเลือก สส. แต่ผู้ที่สมัคร บอร์ดประกันสังคมครั้งนี้มีคนกลุ่มเดิมๆมากันเยอะ อยู่แถบปริมณฑลและกทม. ซึ่งผู้ประกันตนในต่างจังหวัดเขาไม่รู้จัก แต่เรื่องนี้มันเป็นระเบียบที่ออกมาก่อนที่ผมจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง”นายไพโรจน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วทำไมถึงต้องให้ผู้ประกันตนลงทะเบียนก่อนไปใช้สิทธิ ทั้งๆที่ทุกคนต่างมีบัตรประกันสังคมซึ่งสามารถนำไปใช้ได้เลย ประธานบอร์ด สปส.กล่าวว่า บางคนที่เป็นผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไม่ครบ 3 เดือน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 14 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สปส.จะมีการจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ นายไพโรจน์กล่าวว่ากำลังดูระเบียบว่ามีการจัดเวทีได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็เห็นผู้สมัครจัดรณรงค์หาเสียงกันเองเพียงแต่ส่วนราชการยังไม่ได้ดำเนินการ

Advertisement

เมื่อถามอีกว่า สปส.ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการเลือกตั้งและมีความพร้อมกว่าใครๆ ทำไมถึงไม่ดำเนินการเอง  นายไพโรจน์กล่าวว่า กำลังหาแนวปฎิบัติอยู่ คิดว่าก่อนวันที่ 24 ธันวาคมซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง หากไม่ติดขัดอะไรก็จะดำเนินการ

นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)กล่าวว่า หลายคนหวั่นใจว่าผู้นำแรงงานคนเก่าที่เคยเป็นบอร์ดประกันสังคมมาทั้งชีวิต ครั้งนี้ก็ยังลงเลือกตั้งอีก ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร บางคนเคยถูกรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ปลดออก แต่ยังได้รับสิทธิมาสมัครอีก หลายคนวิจารณ์ว่าเมื่อถูกปลดไปแล้ว เขายังมีคุณสมบัติครบหรือไม่ แถมยังมีข่าวว่ามีการไปฮั้วกับนายจ้างด้วยเพื่อช่วยกันไปลงคะแนนเพื่อให้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ แต่เราไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ทั้งนี่ สสรท.ผลักดันให้ผู้ประกันตน 1 คน มี 1 เสียง เราจึงต้องการให้คนใหม่เข้าไปบริหารประกันสังคม ไม่ใช่เอาแต่คนหน้าเดิมๆ อนาคตแล้วเห็นว่าควรมีการจำกัดวาระ เพราะคนเดิมๆที่เคยเข้าไปก็ไม่เห็นพัฒนาอะไร

“การเลือกตั้งครั้งนี้ สปส.ไม่มีความพร้อมเลย เพราะถ้าพร้อมก็ต้องเตรียมตัวดีกว่านี้ ได้ยินมาว่า สปส.ติดเรื่องเงิน เพราะตอนแรกเขาเสนอบอร์ดให้อนุมัติ 630 ล้านบาทมาใช้เลือกตั้ง แต่บอร์ดตัดเหลือ 207 ล้านบาท และต้องกระจายเงินออกไปทุกจังหวัด และพื้นที่ไหนที่มีผู้ลงคะแนนเยอะ อาจไปเพิ่มงบประมาณให้ทีหลังเพื่ออำนายความสะดวกให้ผู้ไปลงเลือกตั้ง”นายชาลี กล่าว

นายชาลีกล่าวว่า ที่น่าเป็นกังวลหลังจากนี้คือเรื่องการจัดหน่วยเลือกตั้ง เพราะแต่ละจังหวัดมีเพียงไม่กี่แห่ง และเท่าที่ทราบการเลือกตั้งต้องจัดในพื้นที่ของราชการ แต่กลับมีการเก็บค่าเช่าแพง จึงทำให้ สปส.ไม่แน่ใจว่าจะจัดหน่วยเลือกตั้งกันที่ไหน หากผู้ประกันตนมีถิ่นฐานอยู่ต่างอำเภอหรืออยู่ไกลหน่วยเลือกตั้งก็อาจไม่ไปใช้สิทธิ ดังนั้นแม้จะมีผู้มาลงทะเบียนเลือกตั้งไว้ 9.4 แสนคน แต่อาจมาใช้สิทธิเพียง 3 แสนคนก็ได้

“ผมเห็นด้วยหากจะมีการจัดให้ผู้สมัครมีเวทีแสดงวิสัยทัศน์ แต่ใครจะเป็นตัวหลักในการดำเนินการ เพราะไม่แน่ใจว่า สปส.จะจัดหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ามีการจัดตั้งกันไว้หมดแล้ว เช่น สมมุติว่าสมาชิกของสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งมี 5 พันคน เมื่อตัวผู้นำสหภาพฯแนะนำให้สมาชิกเลือกใคร ผู้ประกันตนกลุ่มนั้นก็ต้องเชื่อ เขาก็ต้องมีการขนคนกันไปลงคะแนนด้วย ผมจึงมองว่า การที่ สปส.ต่อเวลาให้มีการลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ตุลาคม มาเป็น 10 พฤศจิกายน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมีการจัดตั้งคนไว้หมดแล้ว”นายชาลี กล่าว

นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงานธุรกิจโรงแรมและบริการ ภูเก็ต กล่าวว่าบรรยากาศที่  จ.ภูเก็ตค่อนข้างเงียบเหงา โดยสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมฯพยายามกระตุ้นแล้ว แต่การตื่นตัวยังน้อยมากเพราะเขามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ว่าใครได้เป็นบอร์ดก็ไม่มีผลกับเขา โดย จ.ภูเก็ตมีผู้ประกันกว่า 1 แสน แต่มาลงทะเบียนไม่ถึง 1 หมื่นคน และมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คนเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

“การเลือกบอร์ด เราต้องการคนที่มีศักยภาพในระดับที่มีความรู้ความเข้าใจและพื้นฐานเรื่องประกันสังคม ผมอยากเห็นการจัดสรรเรื่องสวัสดิการให้ผู้ประกันตนมีความทั่วถึง การรักษาพยาบาลควรมีการควบคุมคุณภาพจากโรงพยาบาลคู่สัญญาที่ดีและครอบคลุม ผมเคยเป็นโรคหมอนiองกระดูกทับเส้นประสาท แต่หมอกับรักษาแบบใช้ต้นทุนต่ำ ผมต้องต่อสู้จนเขายอม แต่เพราะผมเป็นผู้นำแรงงานถึงกล้าสู้ แต่ผู้ประกันตนทั่วๆไปถ้าเจอสถานการณ์แบบเดียวกัน เขาจะกล้าหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากได้บอร์ดประกันสังคมเข้าไปแก้ปัญหานี้ด้วย” นายวิจิตร กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image