‘ชลน่าน’ ห่วง! ไทยเหลือ 33 ล้านคน อัดแคมเปญ Give Birth Great World ช่วยปั๊มลูก

แฟ้มภาพ

‘ชลน่าน’ ห่วง! ไทยเหลือ 33 ล้านคน อัดแคมเปญ Give Birth Great World ช่วยปั๊มลูก

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าภาวะเด็กเกิดน้อยกำลังเป็นปัญหาของหลายประเทศทั่วโลก จากข้อมูลระบุว่า หากไม่มีการแก้ไข หรือดำเนินการใดๆ ภายในปี 2643 ค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงทั่วโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.7 คน ส่งผลให้ประชากรโลกจะปรับตัวถึงจุดสูงสุดที่ราว 9,700 ล้านคน ในปี 2607 ก่อนจะปรับตัวลดลงเหลือ 8,800 ล้านคน ในปี 2643 และในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 23 ประเทศของโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวมากที่สุด โดยอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศจะปรับลดลงถึงต่ำสุด และประชากรของประเทศจะเหลือเพียงร้อยละ 50 ของที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนหน้านี้มาแล้วหลายปี นอกจากนี้ยังมี สเปน อิตาลี เกาหลีใต้

Advertisement

“จำนวนประชากรที่ลดลงอย่างมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้ได้ แม้แต่จีน ซึ่งเคยมีประชากรมากที่สุดในโลก ในปี 2565 ประชากรยังมีอัตราลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยล่าสุดอยู่ที่ 1,411 ล้านคน ทำให้จำนวนประชากรของจีนน้อยกว่าประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก” นพ.ชลน่านกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ล่าสุด สธ.ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพของคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพ เช่น คลินิกส่งเสริมการมีบุตรของกรมอนามัยจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่ง ใน 12 ศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ที่พร้อมให้คำปรึกษา, ศูนย์ส่งเสริมการมีบุตรและรักษาผู้มีบุตรยาก ทั่วประเทศ 107 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นสถานพยาบาลภาครัฐ 16 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 91 แห่ง ที่มีการเตรียมความพร้อมร้อยละ 100 ในการรับมือกับปัญหาใหญ่ที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ได้เตรียมจัดทำแคมเปญใหญ่ ‘Give Birth Great World’ เป็นโครงการระดับประเทศและอาจเชิญชวนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เข้าร่วม ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของการเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก

Advertisement

“เมื่อจำนวนประชากรสูงอายุมีมากกว่าวัยหนุ่มสาวและเด็กที่เกิดใหม่ จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างประชากร เช่น ขาดแคลนวัยแรงงาน ประชากรสูงอายุในกลุ่มที่มีภาระพึ่งพิงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น กลายเป็นยอดของพีระมิด ขณะที่ฐานพีระมิดประชากรแคบลงเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านประชากรของประเทศ ดังนั้น ปัญหาเด็กเกิดน้อยไม่ใช่แค่วาระแห่งชาติ แต่เป็นปัญหาของโลก ส่วนโครงสร้างประชากรไทย ขณะนี้เข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ขณะที่อัตราการเกิดใหม่น้อยมาก โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมหรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิง 1 คน ที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่าระดับทดแทน คือ 2.1 คน แต่ปัจจุบันพบว่า จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิงไทยลดลงเหลือเพียง 1.08 คนเท่านั้น จึงต้องเอาความคิดที่ว่าลูกมากจะยากจนออกไป โดยเฉพาะคนที่พื้นฐานการศึกษาดี หรือกลุ่มคนที่มีฐานเศรษฐกิจรองรับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นพ.ชลน่านกล่าว

ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 485,085 คน ซึ่งเป็นจำนวนการเกิดที่ต่ำที่สุดและเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 500,000 คน สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 มีประชากรผู้สูงอายุมากถึงกว่า 12 ล้านคน

“ทั้งนี้ ภายในปี 2626 หรือ 60 ปี นับจากนี้ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ประชากรไทยจาก 66 ล้านคน จะลดเหลือเพียง 33 ล้านคน และประชากรสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ส่งผลให้เกิดภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้น งบประมาณในการรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น ส่วนวัยทำงาน อายุ 15-64 ปี จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน ซึ่งหมายถึงจำนวนแรงงานที่ลดลง ผลผลิตโดยรวมของประเทศลดลง และภาษีที่จัดเก็บได้ลดลง ขณะที่ประชากรวัยเด็กอายุตั้งแต่ 0-14 ปี จะลดจาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน เท่านั้น” พญ.อัจฉรากล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image