‘ธนาคารแรงงาน’ ทำได้ชัวร์! อ.เศรษฐศาสตร์งัดแผน ใช้ประกันสังคม ‘ล้างหนี้-ปล่อยกู้’ กำไรเหนาะๆ

แคนดิเดตสปส. มั่นใจทำได้ชัวร์ ชู ‘ธนาคารแรงงาน’ ปล่อยกู้ได้ 2-3 เท่า งัดแผนลงทุน ล้างหนี้นอกระบบ ทำกำไรเหนาะๆ

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย อาคารเอนกประสงค์ 1 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส สำนักข่าวชายขอบ สำนักข่าว The Reporters และ The Isaan Record จัดเวทีเสวนา“เลือกตั้งคณะกรรมการ ประกันสังคม ปฏิรูปอะไร? อย่างไร?”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 11.00 น. ผู้สมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทั้ง 10 คน เริ่มแสดงวิสัยทัศน์ของทีมทีละราย ท่ามกลางผู้ร่วมงานคับคั่งร่วมฟังล้นห้องประชุม

ในตอนหนึ่ง อ.อรอนงค์ นิธิภาคย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต จาก ‘ทีมสมานฉันท์แรงงานไทย’ ผู้ผลักดัน ‘ธนาคารแรงงาน’ กล่าวดีเบตเรื่อง ‘นโยบายปฏิรูปประกันสังคม’ ว่า เราใช้หลักการ 2 ขาคือ ขาสิทธิและขาสร้าง เพื่อความยั่งยืนของประกันสังคม เขาบอกว่าโลกนี้ไมมีอะไรบังเอิญ แต่สิ่งที่กิดขึ้นในวันนี้คือทีมส่วนใหญ่นโยบายคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่เราเน้น ไม่ใช่เรื่องขาสิทธิ เราเน้น ‘ขาสร้าง’ คือ สร้างรายได้กองทุนประกันสังคม ควบคู่ไปกับรายได้ของผู้ประกันตน โดยใช้หลักคิด เปลี่ยนจากการลงทุนทางอ้อม ไปสู่การ ‘ลงทุนทางตรง’ ให้ผู้ประกันตนมากขึ้น และเป็นการลงทุนในทรัพย์สินที่จับต้องได้อย่างแท้จริง

Advertisement

สถานะกองทุนในปัจจุบัน เรามีเงินอยู่ 2.3 ล้านล้านบาท ปัจจุบันเราลงทุนทางอ้อม ในการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และหุ้นเอกชน เราได้อัตราผลตอบแทนอยู่แค่ 2.36 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ดังนั้นเพื่อที่เราจะได้มีจุดคานงัด แก้ปัญหาทั้งกองทุนประกันสังคม และชีวิตของลูกจ้าง

กองทุนของเรา ถ้าดูจากกระแสเงินสดปัจจุบัน เราเก็บเงินจากนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาลได้ปีละ 148,000 ล้าน แต่เรามีรายจ่าย 165,000 ล้าน เท่ากับว่าติดลบในแต่ละปีประมาณ 16,000 ล้าน ส่วนลูกจ้างเราก็มีปัญหาชีวิตอยู่ 3 ประการคือ 1.รายได้ไม่พอ สวัสดิการน้อย 2.เจ็บป่วย 3. เป็นหนี้ โดยปัจจุบันหนี้นอกระบบมากที่สุดอยู่ที่กลุ่มลูกจ้าง จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

Advertisement

อ.อรอนงค์ ชี้ว่า ‘ธนาคารแรงงาน’ หรือธนาครผู้ประกันตนที่เราพัฒนามาจาก อ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ จะเป็นจุดคานงัดซึ่งจะนำไปสู่ขาสิทธิและขาสร้าง โดยใช้หลักการ ‘ใช้หนี้พัฒนาคน’ ทำ 3 จังหวะก้าว ดังนี้

จังหวะที่ 1 เราจะจัดตั้งกองทุนพัฒนาชีวิตลูกจ้าง เพื่อปลดหนี้นอกระบบด้วยดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์ ไปล้างดอกเบี้ยมหาโหด 20 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน

จังหวะที่ 2 จัดตั้ง ‘ธนาคารผู้ประกันตน’ ขึ้นมา ต่อไปเราจะไม่เป็นคนขอกู้ แต่จะเป็นเจ้าของ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับน้ำมือเรา

จังหวะที่ 3 ใช้ธนาคารเพื่อสร้าง ฐานเศรษฐกิจให้กับแรงงาน

“สิ่งต่างๆ ที่เราพูดมานี้ เราสามารถลงมือทำได้เลย คือถ้าเราได้เข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคม เราจะขอให้กองทุนประกันสังคม ย้ายเงินฝากไปยังธนาคารที่ทำสัญญากับเรา ว่าจะปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกันตนเท่านั้น เราจะเอาเงินไปฝากไว้ 2 -3 หมื่นล้าน ให้ผู้ประกันตนกู้ 2-3 เท่าของเงินเดือน ไม่เกิน 40,000 -50,000 บาท และเราจะขอให้ผู้กู้บังคับโอน 10 % จากวงเงินกู้ เก็บไว้ทุก 3 ปีจะมีงินฝากประจำ ได้ดอกเบี้ยเก็บไว้

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเราขอคิด 10 เปอร์เซ็นต์ จัดสรรโดย 3 % ให้กองทุนประกันสังคม ให้กำไรธนาคารที่มาช่วยดำเนินการ 3 % ค่าดำเนินการของธนาคาร 1 % อีก 1% ไปจัดตั้งสำนักงานพัฒนาชีวิตผู้ประกันตน เราจะจ้างนักศึกษาจบใหม่ที่เป็นลูกหลานเรา 10,000-20,000 คน เป็นเจ้าหน้าที่ในการช่วยปล่อยสินเชื่อ กระจายไปทั่วประเทศ เปิด Sunday Banking ให้นักศึกษาลองทำงานกับพวกเรา ผูใช้แรงงาน เป็นคนแนะนำแผนการเงิน รวมถึงติดตามหนี้จากผู้ประกันตน ส่วนอีก 0.2 – 0.5 % จะให้นายจ้างที่ยืนดีเข้าร่วมโครงการ หักเงินลูกจ้างที่กู้ธนาคารนี้ไป ส่งคืน แล้วมอบให้นายจ้าง อีกประมาณ 1.5 -1.8 % เราจะให้รัฐบาล ถ้าเข้ามามีส่วนร่วมในการเอื้ออำนวยสถานที่หรือค้ำประกันให้กับผู้ประกันตน”

“การดำเนินการแบบนี้ อาจจะมีคนถามว่า เอาเงินไปปล่อยให้คนงาน ถูกดูถูกว่า จะมีปัญหาผ่อนหรือเปล่า ความจริงเราขับเคลื่อนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2546 จนรัฐธรรมนูญฉบับ อ.บวรศักดิ์ อุณโณ บัญญัติในมาตรา 289 ให้มีการจัดตั้ง ‘ธนาคารแรงงาน’ เมื่อเราไม่ได้ธนาคาร รัฐบาลในปี 2564 ก็ไปจัดตั้ง 2 สถาบันการงิน คือ TIPCO ปล่อยกู้ระดับจังหวัด และ Nano Finance ระดับประเทศ ซึ่งคนงานกู้ง่ายมากเพราะไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คนงานเราไปกู้แล้ว 5.4 ล้านบัญชี ปล่อยกู้ไปแล้ว 70,000 ล้าน ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน เก็บตัวเลขกำไรของ Nano Finance แค่ 3 เจ้าแรกที่เป็นเจ้าของตลาด ได้กำไรไปแล้ว 12,500 ล้าน/ปี

ประกันสังคมขาดดุลเงินสดอยู่ 16,000 เราทำแค่นี้ได้แล้ว 12,500 ล้าน มาช่วยลดการขาดดุล ที่สำคัญนโยบายของเราก่อนเสนอ ทีมสมานฉันท์แรงงานไทย เราลงทำงานจริง ระดมเงินและกู้อีก 20 ล้านไปจัดสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยของคนงาน เราทำหมู่บ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน ธนาคารแรงงานของเรากำไร 4.5 % มากกว่าที่เอาไปลงทุนในหุ้น” อ.อรอนงค์เผย

อ.อรอนงค์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันวิธีดังกล่าวยังเพิ่มคุณค่าทางสังคมของชีวิตคนงาน เช่น คนงานรายหนึ่ง ที่ผ่อนบ้าน จนพาครอบครัวมาอยู่ร่วมอาศัยได้ และเมื่อเวลาผ่านไปที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น จึงไม่ควรดูถูกคนงาน เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยขาดส่งเจ้าหนี้แม้แต่งวดเดียว ดังนั้น นโยบายเราจึงเป็นไปได้

ประการที่ 2 การลงทุนทางตรงในทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดินที่มีศักยภาพเป็นตลาด ถ้าประกันสังคมลงทุนในพื้นที่ที่เป็นตลาด มีแต่เสมอตัว หรือกำไร คนที่ถูกปลดออกจากงานจะมีที่ทางเดินต่อ ลงทุนเล็กๆ น้อยๆ ค่าเช่าต่ำ มีโอกาสกำไร ส่งกองทุนประกันสังคมต่อไป

ประการสุดท้าย เรื่อง ‘โรงพยาบาลประกันสังคม’ ตนเห็นด้วยกับทุกทีม และเรื่องการให้ทุนนักศึกษาแพทย์ เรียนเฉพาะทางเพื่อมารักษาโรคจากการทำงาน รวมทั้ง ‘เงินเหมาจ่าย’ 1,808 บาท เราจะขอดึงค่าบริการผู้ป่วยนอกออกมา ตั้งเป็นวงเงินให้ผู้ประกันตน 5,000 บาท เจ็บป่วยเมื่อไหร่เข้ารักษาที่ไหนก็ได้ อย่างน้อยเข้าถึงมือหมอได้เร็วที่สุด

อ.อรอนงค์กล่าวเน้นย้ำว่า การลงทุนที่จับต้องได้ จะนำมาสู่ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม และความยั่งยืนของชีวิตผู้ประกันตน เลือกทีมสมานฉันท์แรงงานไทย ปฏิรูปประกันสังคม ไปสู่สังคมสวัสดิการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image