มอง ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ผ่านประวัติศาสตร์ ‘เศรษฐกิจ-การเมือง’ ที่เปลี่ยนแปลง

นับตั้งแต่มีการวางอิฐก้อนแรก ราวปี 2544 กระทั่งเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2545 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) ผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วม 23 ปี

ในแง่ของความสำเร็จ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมประชากรคนไทยมากกว่า 48 ล้านคน ถือเป็น ‘กองทุนสุขภาพ’ ที่ดูแลประชากรมากที่สุดในประเทศ ภายใต้การใช้เม็ดเงินคุ้มค่าที่สุด ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกยกให้ประเทศไทยเป็น ‘ต้นแบบ’ ในเรื่องนี้

แน่นอน การสร้างระบบหลักประกันของไทยย่อมเต็มไปด้วยเรื่องราวและมุมมองที่ควรค่าแก่การบันทึก ซึ่งภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2567 (PMAC 2024) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดตัวหนังสือสำคัญ 2 เล่ม

Advertisement

นั่นคือ “ศิลปะแห่งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย: จากอดีตสู่ปัจจุบัน (พ.ศ.2411-2545)” ฉบับเต็ม มีความเป็นวิชาการสูง และ “เมื่อกระแสธารมาบรรจบ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงบังเกิด” ฉบับย่อ ที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้น

ทั้ง 2 เล่ม เป็นผลงานการบันทึกประวัติศาสตร์โดย “ดร.ณปภัช สัจนวกุล” เจ้าหน้าที่ด้านการสังคม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN-ESCAP) และ “ดร.ณัฐนี สัจนวกุล” อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

ดร.ณปภัช เล่าว่า หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ เกิดจากความสนใจในระบบสุขภาพ โดยอธิบายการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพไทยในช่วงก่อนปี 2544-2545 ผ่านเลนส์ ‘รัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์’ เริ่มสนใจระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในมิติการเมือง ช่วงทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และเมื่อกลับมาทำงานที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวข้องกับนโยบายสุขภาพ และอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง

สอดรับกับ ดร.ณัฐนี ที่มีความคิดว่า ‘ประวัติศาสตร์’ จะเป็นตัวเสริมมุมมอง ‘เศรษฐกิจการเมือง’ ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

“เราในฐานะคนนอก ไม่ได้เป็นแพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข มีมุมมองต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต่างออกไป จึงคิดว่า งานชิ้นนี้น่าจะช่วยเสริม หรือสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับที่มาและการพัฒนาระบบสุขภาพไทยได้” ดร.ณัฐนี กล่าว

หนังสือ 2 เล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องการเดินทางของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคม ใช้เวลาจัดทำตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการประมาณ 2 ปี

ในปีแรก นักเขียนทุ่มเทให้กับการเก็บข้อมูล หาหลักฐานชั้นต้น เอกสารหายาก หรือบันทึกเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ และห้องสมุดตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เพื่อรวบรวมเอกสาร รวมไปถึงราชกิจจานุเบกษา หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ได้เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ปีถัดมา เป็นเวลาของการนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาสกัด วิเคราะห์ เรียบเรียง จนกลายเป็นหนังสือทั้ง 2 เล่ม โดยใช้ 3 กรอบคิดที่ผสมผสานเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ สถาบันนิยมเชิงประวัติศาสตร์ (historical institutionalism) ที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับจุดเปลี่ยน หรือรอยต่อที่สำคัญ (critical junctures) และเส้นทางบังคับ (path dependence) ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องราว เหตุการณ์ และการตัดสินใจสำคัญในอดีตมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายในปัจจุบัน รวมถึงอนาคต

2.ทฤษฎี ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ของ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ที่เป็นยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อน หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เฉพาะแค่การสร้างหลักประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นฟันเฟืองที่หนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ ตั้งแต่การสร้างความรู้ การขับเคลื่อนจากสังคม และการขานรับจากภาคการเมือง

3.กรอบการพัฒนาระบบสุขภาพ หรือ ‘Health System Building Blocks’ จากองค์การอนามัยโลกที่อธิบายการพัฒนาระบบสุขภาพของไทย โดยมีองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบบริการ การสร้างและรักษากำลังคน การเงินการคลัง ระบบยา ระบบข้อมูล และการอภิบาล

ดร.ณปภัช บอกว่า ตั้งใจให้การเล่าเรื่องครอบคลุมทุกมิติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และจะไม่พยายามให้ความสำคัญกับบุคคลหรือกลุ่มคณะใดเป็นการเฉพาะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะบางกลุ่มก็มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาระบบสุขภาพในความเป็นจริง

“หนังสือพยายามชี้ให้เห็นว่า การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ไม่ได้เกิดขึ้นภายในข้ามวัน แต่เกิดจากการสร้าง และพัฒนาแต่ละจุดไปเรื่อยๆ อย่างมีทิศทาง ผ่านเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง จนเมื่อทุกอย่างพร้อมและมาบรรจบกัน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเกิดขึ้น” ดร.ณปภัชระบุ

ดร.ณปภัช และ ดร.ณัฐนี มองว่าสิ่งที่น่าสนใจจากหนังสือทั้ง 2 เล่ม คือ เรื่องราวในอดีตของผู้คนและขบวนการที่มีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า น่าจะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่สนใจอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะต่างบริบทกัน แต่เชื่อว่าเรื่องราวของ ‘กลุ่มหมอนักปฏิรูป’ ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิด ความฝัน ที่อยากจะสร้างอะไรดีๆ ให้สังคม จะเป็นแรงบันดาลใจที่มีพลังให้กับคนรุ่นต่อไป

แม้ว่าหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ จะเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในมุมมองของคนที่อยู่นอกระบบสาธารณสุขก็มั่นใจว่าหนังสือ ‘มีประโยชน์’ สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษา

“คนที่เกิดหลังปี 2545 เป็นต้นไป อาจไม่เคยมีโอกาสทราบว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพที่พวกเขามีสิทธิกันอยู่ มีที่มาที่ไปอย่างไร ผ่านความพยายามและการต่อสู้มาด้วยวิธีการแบบไหน หนังสือเล่มนี้จะเปิดมุมมองให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจประวัติศาสตร์สาธารณสุขได้ทำความเข้าใจ และเรียนรู้จากประสบการณ์ของนักเคลื่อนไหวทางสุขภาพในอดีต” ดร.ณปภัชกล่าว

สิ่งที่ผู้เขียนฝันอยากเห็นในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็คือ ‘การพัฒนาที่ไม่มีวันจบ’ แม้ว่าจะผ่านมรสุมทางการเมือง และสามารถตั้งมั่นได้อย่างแข็งแรงในช่วงกว่า 2 ทศวรรษ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำต่อคือ ทำให้ผู้มีสิทธิทุกคน ‘รู้สึกเป็นเจ้าของ’ เพราะเมื่อไรก็ตามที่คนไทยทุกคนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของแล้ว จะไม่ยอมให้มีใครเอาสิ่งนั้นไป

แม้ว่าที่ผ่านมา คนจะเห็นภาพว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้นมีคุณูปการ และทำให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นด้วยการมี ‘สิทธิ’ ไม่ใช่การ ‘สงเคราะห์’ แต่ส่วนหนึ่งที่ ดร.ณปภัชสังเกตเห็น คือ ความแตกต่างบางประการที่ปรากฏอยู่ในสิทธิประโยชน์

นอกจากนี้ ดร.ณปภัช บอกด้วยว่า ในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องดี หากสิทธิประโยชน์และวิธีการจัดบริการของทั้ง 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ จะมีความใกล้เคียงกันมากขึ้นจนแทบไม่เห็นข้อแตกต่าง

“สิ่งที่อยากเห็นจริงๆ คือ ทำอย่างไรให้คนไทยมีความรู้สึกเป็นเจ้าของต่อระบบหลักประกันฯ ร่วมกันมากขึ้น อาจไม่ต้องรวมกองทุนก็ได้ เพราะที่มาของแต่ละกองทุนแตกต่างกัน แต่จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในแต่ละสิทธิมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นเจ้าของหลักประกันสุขภาพ และปกป้องระบบให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” ดร.ณปภัชระบุ

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ความสำเร็จระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้น ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่มีข้อจำกัดทางการเงิน หลายประเทศแสวงหาข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์ของประเทศไทย หนังสือ 2 เล่มที่ สปสช. ไม่ใช่แค่บันทึกพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของระบบสุขภาพไทย แต่เป็นการศึกษาวิจัยที่ผสมผสานมุมมองรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์เพื่อตรวจสอบ “หัวเลี้ยวหัวต่อวิกฤต” ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และผลกระทบต่อระบบสุขภาพไทยและรากฐานสู่การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย

“ด้วยการบันทึกและแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศไทย และจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประวัติศาสตร์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยมุมมองเชิงประจักษ์และทางประวัติศาสตร์ ผมหวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจความซับซ้อนที่เกี่ยวข้อง และพลังต่างๆ ที่มีบทบาทในการกำหนดรูปแบบระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ” นพ.จเด็จ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image