วิกฤตโลก ภาวะอากาศสุดขั้ว หาทางออกไม่ได้ พ.ค.สิ้นสุดหน้าแล้งจริง แต่ฝนทิ้งช่วง ทำร้อนต่อถึงก.ย.

โลกถึงจุดวิกฤต เกิดภาวะ อากาศสุดขั้ว ที่ยังหาทางออกไม่ได้ พ.ค.สิ้นสุดหน้าแล้งจริง แต่ฝนจะทิ้งช่วง ร้อนต่อถึงก.ย.แนะ ทำงานที่บ้าน ลดพลังงาน

วันที่ 27 เมษายน ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า เปิดเผยกับมติชนออนไลน์ ว่า ขณะนี้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมามากๆ เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะอากาศสุดขั้ว คือ มีความแปรปรวนที่รุนแรงทุกพื้นที่ อุณหภูมิเฉลี่ยของแต่ละพื้นที่เดิมคาดการไว้ว่าสูงสุดน่าจะอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส แต่เวลานี้หลายที่เกินมาแล้ว ภาพรวมอุณหภูมิทั้งโลกค่าเฉลี่ยน่าจะถึง 2 องศาเซลเซียส

เมื่อถามว่า การที่ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นจะส่งผลอะไรบ้าง ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า นอกจากทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำแล้ง อากาศร้อนจัดแล้ว ส่งผลกับน้ำทะเลที่จะเป็นตัวดูดซับเอาความร้อนเอาไว้มากที่สุด เมื่อน้ำทะเลร้อนมากก็พยายามที่จะรักษาสมดุลโดยปล่อยพลัง คือ ระเหยออกมามาก ผลก็คือ ทำให้เกิดพายุที่รุนแรง ฝนตกหนัก ซึ่งภาวะอากาศสุดขั้วแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่ และก็มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้อุณหภูมิน้ำทะเล โดยเฉพาะในมหาสมุทร หากเกิน 27 หรือ 28 องศาเซลเซียส ซึ่งเวลานี้เกินมาแล้ว มีผลทำให้เกิดฝนตก และมีพายุที่รุนแรงมากทั้งนี้อุณหภูมิของน้ำทะเลนั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอากาศอย่างมาก แค่ขึ้นมา 0.5 องศาเซลเซียสก็มีผลแล้ว หากเพิ่มขึ้นมามากกว่านี้ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

“สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกังวลมากในเวลานี้ก็คือ ที่บริเวณขั้วโลก คือเวลานี้ น้ำแข็งที่เป็นแผ่นๆที่คลุมผิวน้ำอยู่นั้นละลายเกือบหมดแล้ว ตอนนี้น้ำแข็งลูกใหญ่กำลังจะละลาย ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างมาก ทั้งในเรื่องแร่ธาตุบางอย่าง และสัตว์น้ำ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด”ดร.ปกรณ์ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า อากาศในเวลานี้ จะร้อนไปถึงไหน ร้อนสูงสุดได้เท่าไร ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า เวลานี้ มี2 อย่าง คือ อุณหภูมิจริงๆ กับ อุณหภูมิที่เรารู้สึก โดยอุณหภูมิจริงๆจะอยู่ที่ประมาณ 40-41 องศาเซลเซียส บางที่อุณหภูมิความรู้สึกอาจะถึง 50 องศาเซลเซียส แต่ความเป็นจริงไม่ได้ถึงขนาดนั้น โดยเวลานี้ ประเทศไทยผ่านช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดมาแล้ว

ดร.ปกรณ์ กล่าวอีกว่า ที่เป็นความเปลี่ยนแปลง ที่นักวิทยาศาสตร์เองยัง งง งง อยู่ก็คือ เวลานี้ เอลนีโญเริ่มมีสภาพเป็นกลางแล้ว ซึ่งปกติจะมีการสะสมพลังงาน 1-2 ปีแล้ว กลายเป็นลานีญา แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดคือ เมื่อเอลนีโญแล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นลานีญาทันที นั้นคือ อุณหภูมิฝั่งทะเลแปซิฟิคจะต่ำกว่าค่าปกติ ประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส

Advertisement

“เอลนีโญในประเทศไทยนั้นคาดว่าจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม แต่ไม่ได้หมายความว่า อากาศร้อนจะสิ้นสุดลง ความร้อนยังมีอยู่ เนื่องจาก เดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน จะมีฝนทิ้งช่วง คือ มีภาวะแล้งต่อ อาจจะไปถึงเดือนกันยายน ถึงตุลาคมก็ได้”ดร.ปกรณ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ทั้งหมดนี้ พอจะมีทางออก และรับมือกับภาวะอากาศสุดขั้วหรือไม่ ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า การรับมือที่ดีที่สุด คือการปรับตัว เพราะต้องยอมรับว่า เราแก้ปัญหาอะไรไม่ได้มากแล้ว ซึ่งการปรับตัวนี้ก็ต้องบริหารจัดการให้ดี ทำอย่างเป็นระบบร่วมกัน เช่น เกษตรกร ปรับการปลูกพืช อาจจะต้องปรับเวลาเพาะปลูก หรือปลูกพืชที่เหมาะสมใช้น้ำน้อย ส่วนประชาชนทั่วไป อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันบ้าง เช่น การทำงานที่บ้าน หรือ เวิร์ก ฟรอมโฮม ลดการเดินทางเพื่อประหยัดพลังงาน อันนี้ช่วยได้เยอะ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image