ชัชชาติ ยก BKK Food Bank บางขุนเทียน เป็นโมเดลขยาย 50 เขต มหานครแห่งการแบ่งปัน

ชัชชาติ ยก BKK Food Bank บางขุนเทียน เป็นโมเดลขยายทั่ว 50 เขต ให้กรุงเทพเป็นมหานครแห่งการแบ่งปัน

เมื่อวันที่ 27 เมษายน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายสารัช ม่วงศิริ ส.ก.เขตบางขุนเทียน นางภัสรา นทีทอง ผอ.เขตบางขุนเทียน และคณะ ร่วมกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร รอบ 2 เขตบางขุนเทียน

นายชัชชาติ ตรวจเยี่ยมโครงการ BKK Food Bank ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 65 ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เขตนําร่อง ปัจจุบันมีผู้ได้รับความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากโครงการ จำนวน 3,448 ราย โดยเปิดบริการทุกวันศุกร์ให้แก่ลูกจ้างที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง

ต่อมาลงพื้นที่ลานกีฬาเคหะชุมชนธนบุรี 1 ส่วน 4 ถ.พระรามที่ 2 ซอย 69 เพื่อติดตามการปรับปรุงลานกีฬาและเครื่องออกกําลังกาย ที่ชํารุด ทรุดโทรม และไม่มีหลังคา พื้นที่ลาน 500 ตร.ว. ซึ่งได้งบประมาณปรับปรุง ปี 2567 ปัจจุบันดำเนินการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว สามารถเล่นกีฬา ได้แก่ ฟุตซอล ตะกร้อ เปตอง เครื่องออกกําลังกาย เครื่องเล่นเด็กวิ่ง ตะกร้อลอดห่วง หมากรุก หมากฮอส และแอโรบิก

Advertisement

นายชัชชาติ กล่าวว่า กิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร รอบ 2 ที่เขตบางขุนเทียน จัดขึ้นเพื่อพัฒนาเขตในระดับเส้นเลือดฝอย ที่ใกล้ชิดกับชีวิตชาวบ้าน อาทิ การพัฒนาลานกีฬาในชุมชน ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก สวนสาธารณะ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งทั้งหมดเป็นหัวใจที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น สำหรับลานกีฬาจุดนี้ได้พัฒนาขึ้นจากความต้องการของคนในชุมชน ที่แจ้งความประสงค์ผ่านทาง ส.ก.เขตบางขุนเทียน โดยลานกีฬาดังกล่าวใช้งบลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งคุ้มค่ากับคนในชุมชนที่ได้ใช้ออกกำลังกายและจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ทำให้คนในชุมชนสุขภาพแข็งแรงและเจ็บป่วยน้อยลง รวมถึงสุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่น้อยแต่ได้ประโยชน์มหาศาล

“กทม.ได้ปรับปรุงลานกีฬาทั่วกรุงเทพฯ กว่า 500 แห่งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชุมชนใช้งบ 2 แสนบาท ที่จัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนอีกด้วย เนื่องจากเป็นการกระจายอำนาจสู่ชุมชน เนื่องจากคนที่ทราบปัญหา และความต้องการของชุมชนก็คือคนในชุมชนนั่นเอง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า ในส่วนของ BKK Food Bank เขตบางขุนเทียน เป็นเรื่องสำคัญ ที่กทม.จะดูแลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนมาก โดย กทม.จะเป็นสื่อกลางที่จะนำอาหารจากคนที่เหลือกินเหลือใช้มาสู่ผู้ที่ขาดแคลน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

Advertisement

1. อาหารส่วนเกิน (Food Surplus) เป็นอาหารที่เกินจากความต้องการ หรือขายไม่หมด โดยที่ยังไม่หมดอายุจากร้านค้าต่างๆ และซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น โลตัส 7-11 ฯลฯ ที่เข้าร่วม ซึ่ง กทม.จะมอบสติ๊กเกอร์ให้กับองค์กรที่เข้าร่วม เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญกัย BKK Food Bank โดย กทม.จะรวบรวมอาหารเหล่านี้ให้กลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สามารถนำอาหารส่วนเกินมาใช้ประโยชน์และลดขยะให้กรุงเทพฯ ได้

2.ธนาคารอาหาร (Food Bank) มีทั้งอาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภคด้วย กทม.จะเป็นสื่อกลางนำคนที่ต้องการบริจาคอาหารแต่ไม่ทราบจุดที่จะบริจาค นำอาหารถึงมือผู้ขาดแคลนอย่างแท้จริง โดยในเขตบางขุนเทียนมีผู้เปราะบางอยู่ประมาณ 600 คน จากฐานข้อมูลของสำนักงานเขต BKK Food Bank จึงเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ที่กลุ่มเปราะบางจะมาใช้บริการเลือกสิ่งของที่ต้องการ พร้อมสะสมคะแนนผ่านพาสปอร์ตสะสมแต้มเพื่อแลกสิ่งของที่ต้องการได้อีกด้วย

“กทม.จะขยาย BKK Food Bank ให้ครบ 50 เขตต่อไป และขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการจะบริจาคอาหาร สิ่งของอุปโภคบริโภค ของเล่น ของฟุ่มเฟือย สามารถมามอบได้ที่ 50 สำนักงานเขต และศาลาว่าการ กทม.ทั้ง 2 แห่ง โดย กทม.จะจัดสรรสู่ผู้ขาดแคลน ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบางอย่างยุติธรรมต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการแบ่งปัน มีน้ำใจ ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น เป็นโครงการที่ทำให้เมืองมีความสุขมากขึ้น”

“ชื่นชม ผอ.เขตบางขุนเทียน เป็นตัวอย่างที่เรามอบนโยบายไป 1 แต่ทำได้ 10 ท่านไปหาเอกชนมาพัฒนาซอฟต์แวร์ สแกนคิวอาร์โค้ดตัดแต้ม ไม่ต้องมานั่งกดทีละอัน เป็นเรื่องที่ประทับใจมาก” นายชัชชาติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image