นักวิชาการชี้ ไตรภาคีประกาศขึ้นค่าแรงตามความพร้อมของนายจ้าง ทำลายหลักการ ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’

นักวิชาการชี้ไตรภาคีประกาศขึ้นค่าแรงตามความพร้อมของนายจ้าง ทำลายหลักการ ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ แนะปรับปรุง กม.ให้ทันสถานการณ์

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงประเด็นแรงงานไทย เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมของทุกปี ว่า ตามที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงานสัมพันธ พ.ศ.2518 ที่ให้สิทธิลูกจ้างเจรจาต่อรอง นัดหยุดงาน รวมถึงการตั้งสหภาพได้ตามกฎหมาย ต่อมาได้มี พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งหมดเป็นผลพวงจากการต่อสู้ของแรงงาน ทำให้แรงงานได้รับสวัสดิการ การคุ้มครองมากขึ้น

“แต่ถ้าถามว่าเพียงพอหรือทันต่อสถานการณ์หรือไม่นั้น คำตอบคือ เราสามารถตอบคำถามในอดีตได้ แต่ในอนาคตก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือ เราตอบปัญหาในอนาคตได้หรือไม่ ผมมองว่าเรื่องแรงงานในวันนี้เปลี่ยนแปลงไป คือ 1.อาชีพใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีการคุ้มครอง เช่น ผู้สื่อข่าวในยุคของการเปลี่ยนแปลงเป็นทีวีดิจิทัล ทำให้นักข่าว ช่างภาพ หลายคนต้องตกงาน โดยไม่มีหลักประกันใดๆ ไปจนถึงอาชีพที่รับงานอิสระ หรืออาชีพที่ทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ล้วนไม่มีการยืนยันตัวตนการเป็นลูกจ้าง จึงไม่มีการคุ้มครองใดๆ ดังนั้น คำถามคือ เมื่อมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น กฎหมายแรงงานตามทันหรือไม่” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า 2.แรงงานข้ามชาติ แรงงานสตรี ที่มีการคุ้มครอง เพียงพอหรือไม่ เช่น การลาคลอด ที่ควรยึดตามหลักการแพทย์ ซึ่งยิ่งเป็นลูกจ้างที่รายได้น้อย ยิ่งไม่อยากลาหยุดงาน เพราะการทำงานต้องพึ่งพาอาศัยรายได้จากเงินรับจ้าง โดยเฉพาะค่าทำงานล่วงเวลา (OT)

Advertisement

“บางคนลาคลอดเพียง 45 วัน ก็กลับมาทำงานแล้ว จะเห็นได้ว่าแรงงานหลายคน เลือกที่จะเสียสละตัวเองไปทำโอที เพื่อให้ได้เงินมากขึ้นกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ตัวเองได้รับ ฉะนั้นสิ่งที่ควรคิดคือ หากค่าจ้างขั้นต่ำไม่สูงขึ้น จะทำอย่างไรให้แรงงานมีวันลามากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะต้องนำมาคิด หากจะมีการเรียกร้อง ก็ควรจะเรียกร้องให้กับอาชีพใหม่ การขยายการคุ้มครองที่มีอยู่ สิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ รวมถึงสิทธิของประกันสังคมที่ควรจะคุ้มครองมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องตามให้ทัน และการคุ้มครองคนใหม่ๆ อย่างแรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มเปราะบาง ก็ควรได้รับการคุ้มครอง เพราะสังคมไทยเติบโตได้ด้วยแรงงานข้ามชาติ

หากเราไม่มีแรงงานกลุ่มนี้ เศรษฐกิจไทยก็จะตกต่ำ ถ้าเขาเป็นกำลังสำคัญให้เรา ทำไมเราถึงไม่ดูแลเขา ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นเรื่องแรงงานในชาติหรือต่างชาติ แต่เป็นสิทธิของแรงงานที่ต้องเหมือนกันทั่วโลก มิเช่นนั้นก็จะมีการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติด้วยการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะรู้ว่าเขาไม่กล้าไปฟ้องร้อง เพราะเขาก็กลัวตกงาน แล้วต้องกลับประเทศทันที เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นแรงงานเถื่อน ซึ่งกฎหมายแรงงานตรงนี้ก็ไม่แฟร์กับเขา” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นกรณีที่กระทรวงแรงงานเดินหน้าการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นครั้งที่ 3 ของปี ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว มองว่าประกาศกี่ครั้งไม่สำคัญ เพียงแต่การประกาศในครั้งที่ผ่านมา ที่มีผลบังคับเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 เกณฑ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้นได้ทำลายหลักการของค่าจ้างขั้นต่ำ คือ 1.การปรับค่าจ้างขึ้นในบางพื้นที่ บางอำเภอ ทั้งๆ ที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ ต่างก็มีค่าครองชีพไม่ต่างกัน และ 2.การปรับขึ้นเฉพาะกิจการที่ทำเงินได้

Advertisement

“ทั้งสองอย่างนี้เป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยอาศัยความพร้อมของเจ้าของกิจการ แต่ตามหลักการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องดูจากความจำเป็นของลูกจ้างเป็นตัวตั้ง ถ้าหากเขาเดือดร้อน เจ้าของกิจการก็ต้องจ่ายเงินให้เพียงพอต่อปากท้องของลูกจ้าง อย่างในครอบครัวเดียวกัน คนหนึ่งทำงานในกิจการที่มีการเติบโต อีกคนอยู่ในกิจการที่ไม่เติบโต แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน แต่ค่าจ้างกลับไม่เท่ากัน เพราะเอาความพร้อมของนายจ้างเป็นตัวกำหนด แบบนี้ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าจ่ายตามกำลังของนายจ้าง แบบนี้เรียกว่า การขึ้นเงินเดือนตามปกติของนายจ้าง ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

ศาสตราภิชาน แล กล่าวอีกว่า วันนี้กระบวนการแรงงานควรใส่ใจประเด็นนี้ให้มาก เพราะไม่เช่นนั้นการขึ้นค่าจ้างจะกลายเป็นการยึดตามกำลังจ่ายของนายจ้างเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ปากท้องของลูกจ้างเป็นตัวตั้งอีกต่อไป นอกจากนั้น นายจ้างหลายคนยังเอาค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นค่าจ้างขั้นสูงของแรงงาน จะเห็นได้ว่า แรงงานหลายคนทำงานหลายปี แต่เงินค่าจ้างก็ยังได้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ

“ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้มีตัวเลขในการกำหนดค่าจ้างที่ต่ำที่สุดที่นายจ้างต้องจ่าย หากจ่ายต่ำกว่านั้น จะผิดกฎหมาย แต่กลับกลายเป็นนายจ้างหลายคนเอาตัวเลขนั้นมาเป็นค่าจ้างขั้นสูงของแรงงาน ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังมีความสำคัญอยู่ แต่หลักการถูกบิดเบือนไปมาก โดยเฉพาะหลักเกณฑ์คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่เอาตัวเลขทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวกำหนด แต่หากดูในรายละเอียด พบว่าคนที่มีกำลังซื้อมาก ก็จะได้สินค้าในราคาที่ต่ำลง เช่น แรงงานที่รายได้น้อย มีเงินซื้อข้าวสารได้ทีละลิตร ในขณะที่คนมีรายได้สูง สามารถซื้อข้าวได้เป็นกระสอบ ซึ่งราคากระสอบก็ถูกกว่าราคาลิตร สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาคิด เพราะถ้าดูค่าการเติบโตของจีดีพีประเทศที่สูงขึ้นจากรายได้ของนายทุน แต่ขณะที่จีดีพีของชาวบ้านไม่ได้ขึ้นตาม ดังนั้น เราต้องคุยกันในรายละเอียดมากขึ้น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องมี แต่ไม่ใช่ยึดเป็นค่าจ้างขั้นสูง ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้มีการเรียกร้องของลูกจ้าง มีการตั้งสหภาพเพื่อให้ได้เจรจาต่อรองเพื่อให้ได้มากซึ่งค่าจ้างที่ยุติธรรม” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image