4เดือนป่วยไข้หูดับแล้ว 235 ราย ตาย 14 กรมควบคุมโรคเตือนไม่กิน ‘เนื้อหมูดิบ’ ลดเสี่ยง

4 เดือนป่วยไข้หูดับแล้ว 235 ราย ตาย 14 กรมควบคุมโรคเตือนไม่กิน ‘เนื้อหมูดิบ’ ลดเสี่ยง

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและวัยทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์ของโรคไข้หูดับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 29 เมษายน 2567 จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 โดยกองระบาดวิทยา พบผู้ป่วย 235 ราย (อายุ 15-95 ปี) เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา อายุ 55-59 ปี และ 40-49 ปี ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ปัจจัยเสี่ยงที่พบคือ กินเนื้อหมูหรือเลือดสุกๆ ดิบๆ ไม่แยกเขียงทำอาหาร สัมผัสหมูดิบโดยตรง พบผู้ป่วยเสียชีวิต 14 ราย (ร้อยละ 5.9) และประมาณร้อยละ 60 มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น

Advertisement

พญ.จุไรกล่าวว่า โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้อยู่ในทางเดินหายใจของหมูและเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.บริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2.สัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกาย หรือเยื่อบุตา หรือการสัมผัสเลือดของหมูที่ป่วย ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อ 1-14 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง สูญเสียการได้ยิน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

“วิธีป้องกัน 1.บริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 60-70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาที เป็นอย่างต่ำ หากกินอาหารปิ้งย่าง แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุก ผัก หรือผลไม้ร่วมกัน 2.เลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 3.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ขณะทำงานควรสวมรองเท้าบู๊ตยาง และสวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง 4.หากพบว่ามีอาการป่วยสงสัยโรคไข้หูดับ โดยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ร่วมกับมีประวัติเสี่ยง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูดิบให้ทราบ หากพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว ได้รับยาปฏิชีวนะเร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้” พญ.จุไรกล่าวและว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image