สมศักดิ์-ทวี ถกด่วนแก้ปัญหายาเสพติด จ่อขอศาลเพิ่มเงื่อนไขสั่ง “บำบัด” แทนคุมประพฤติ หลังพบผู้เสพเต็มชุมชน

สมศักดิ์-ทวี ถกด่วนแก้ปัญหายาเสพติด จ่อขอศาลเพิ่มเงื่อนไขสั่ง “บำบัด” แทนคุมประพฤติ เผย ผู้เสพกว่าแสนคน ยังอยู่ในชุมชน สถิติ 82% การศึกษาต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธานร่วมในการประชุมหารือแนวทางการจัดการผู้เสพยาเสพติดที่ศาลสั่งคุมประพฤติ ตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยอธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ผู้แทนจากกรมสุขภาพจิตเข้าร่วมในการประชุม

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงกรณีที่มีผู้เสพยาเสพติดที่ศาลสั่งคุมประพฤติแล้วอยู่ในชุมชนโดยขาดการบำบัดกว่า 100,000 ราย ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ ถ้าไม่ได้การบำบัดก็จะก่อปัญหาโดยเฉพาะในชุมชน ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายดูแล แก้ปัญหายาเสพติดให้ครบถ้วน จึงมีการหารือร่วมกับหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ในการคนกลุ่มดังกล่าวเข้ารับการบำบัดในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายกว่า 100,000 รายนั้นไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการระดับรุนแรงถึงขั้นสีแดง หรือสีส้มทั้งหมด ฉะนั้นต้องมีการคัดกรองและคาดว่าการบำบัดของระบบสาธารณสุขโดย “มินิธัญญารักษ์” มีความพร้อมรองรับได้ เพราะผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวนั้น จะใช้การบำบัดโดยสังคม ส่วนกระบวนการที่ศาลไม่ได้สั่งให้มาบำบัดนั้น ต้องหารือกันในเรื่องของการปรับกฎหมายเพื่อให้งานกระบวนการยุติธรรมครบถ้วน จึงต้องมีการหารือกันระหว่าง 2 กระทรวงเพื่อดำเนินการต่อไป

นายสมศักดิ์กล่าวถึงประเด็น (ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยกำหนดปริมาณการครอบครองยาเสพติดเล็กน้อย ซึ่งมีการกำหนดการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 1 เม็ด ว่า เป็นการนำผู้เสพที่สมัครใจเข้ารับการบำบัด โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล ไม่ต้องถูกปั๊มลายนิ้วมือ ขณะเดียวกันก็จะต้องแก้ปัญหาทั้งกระบวนการ โดยผู้เสพต้องระบุให้ได้ว่าซื้อยาเสพติดมาจากแหล่งใด เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ค้าและนำไปสู่การยึดทรัพย์ต่อไปขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า วันนี้เป็นการติดตามเร่งรัดงานป้องกัน ปราบปราม บำบัด รักษาและแก้ปัญหายาเสพติด ประเด็นใหญ่คืองานเก่าที่ผ่านมา ที่มีกลุ่มผู้เสพที่ติดยาเสพติด แต่ศาลได้พิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ที่มีเงื่อนไขมีอยู่ 10 ข้อ โดยเงื่อนไขข้อที่ 4 คือ ให้นำผู้ป่วยไปบำบัดฟื้นฟูรักษา แต่ส่วนนี้ไม่มีการดำเนินการ เพราะการพิจารณาคดียาเสพติดปริมาณเล็กน้อยอำนาจของศาลแขวง พนักงานสอบสวนใช้กระดาษแผ่นเดียวส่งไปที่ศาล ไม่มีการทำสำนวนคดี ทำให้คนกลุ่มนี้ยังอยู่ในหมู่บ้านชุมชน จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะแก้ปัญหา โดยหลักการต้องใช้แพทย์และสาธารณสุขนำ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มาเพื่อรับกติกาอย่างชัดเจน โดยส่วนหนึ่งต้องบำบัดรักษาในชุมชน แต่จะมีกระบวนการติดตามช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขากลับสู่ชุมชน และชุมชนต้องไม่เดือดร้อนด้วย อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ตั้ง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานทำงานเฉพาะกิจเพื่อเร่งรัดติดตาม โดยมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการเพื่อให้ทำงานได้ผลใน 90 วันหรือ 3 เดือน

Advertisement

เมื่อถามว่าที่บอกว่าก่อนหน้านี้ ศาลเคยมีคำสั่งบำบัด แต่ปัจจุบันไม่สั่งแล้ว เพราะอะไร พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เราใช้กฎหมายอาญา เนื่องจากว่า ศาลมองว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 บอกว่า การที่ศาลสั่งบำบัดต้องเป็นผู้สมัครใจบำบัด คือมีทางเลือกให้ศาลสั่ง เลยสั่งคุมประพฤติแทน แต่ทางเราก็มี พ.ร.บ.บังคับบำบัด ดังนั้นถึงอย่างไรก็ต้องนำเข้าสู่การบำบัด และเป็นการบำบัด 3 วัน ในหมู่บ้าน ที่มาหารือกันวันนี้ เพื่อปิดช่องโหว่ จึงให้กรมคุมประพฤติขอให้ศาลเพิ่มเงื่อนไขในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 (4) ให้นำตัวเข้าระบบการบำบัด เบื้องต้นก็คือผู้ถูกคุมประพฤติเดิม 1 แสนคนเมื่อาถาม ก่อนหน้านี้มีข้อกังวลเรื่องนักโทษยาเสพติดล้นคุก พอจะปรับมาเป็นการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 1 เม็ด จะยิ่งทำให้คนเข้าคุกเยอะขึ้นหรือไม่ แล้วการรองรับตรงนี้เป็นอย่างไรบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เนื่องจากปัญหายาเสพติดเป็นพลวัต ขณะนี้ชุมชนเดือดร้อน แล้วกฎหมายยาเสพติดจะมี ข้อหาการครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งเราจะใช้จำนวนเท่าไหร่ก็ติดคุก 2 ปี ถ้าครอบครอง โทษสูงสุด 15 ปี เดิม เรากำหนด 5 เม็ด เป็นการครอบครองเพื่อเสพ ถึงอย่างไรก็ต้องถูกจับ แต่ศาลลงโทษไม่เกิน 2 ปี วันนี้มา 1 เม็ด การลงโทษก็อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่ที่สำคัญคือ โทษ 2 ปี อยู่ในอำนาจของศาลแขวง คือไม่ต้องทำสำนวน แต่เอากระดาษแผ่นเดียวฟ้องได้เลย แต่ถ้าต่อไปนี้ สมมติ 2 เม็ด เราถึงว่า เป็นข้อหาครอบครอง ตามกฎหมายใหม่จำคุกไม่เกิน 15 ปี พนักงานสอบสวนต้องทำสำนวน แล้วเอาตัวไปฝากขังได้ 70 กว่าวัน

“ในทางปฏิบัติช่วงวิกฤติตอนนี้เมื่อเอาคนกลุ่มนี้มาก็จะทำให้เรือนจำเพิ่มขึ้น เราต้องไปวางแผนรองรับ เพราะขณะนี้เราต้องการแยกผู้ต้องหาเด็ดขาด เราจะมีเรือนจำโครงสร้างเบา บางแห่งที่ต้องมาพัฒนาเตรียมตรงนี้ เพราะเราชั่งน้ำหนักแล้ว เราไม่อยากให้สังคม ชุมชนมีความเดือดร้อน วันนี้ตัวเลขที่พบใหม่ คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่อยู่ในการคุมประพฤติ 82% มีการศึกษาต่ำกว่าที่รัฐกำหนด ให้เรียนฟรีถึงม.6 แต่คนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเรียนถึงแต่ม.ต้น เรื่องการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ดังนั้น ต้องให้คนกลุ่มนี้ โดยในเรื่อนจำซึ่งมีกฎหมายว่า เรือนจำต้องจัดการศึกษาให้ หากอายุเยอะก็ต้องฝึกอาชีพ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า มีข้อมูลว่า การบำบัดในชุมชนจะทำให้กลับมาเสพซ้ำน้อยกว่าอยู่ในเรือนจำ อย่างเท่าที่มีตัวเลข 2 แสนกว่าคน พบว่ากว่า 61% เป็นการติดคุกซ้ำจากปัญหายาเสพติด เราพบช่องว่างว่า เราหักดิบเขาเกินไป เอาเข้ามาอยู่ในเรือนจำแล้วไม่ได้ให้ยา ไม่ได้ฟื้นฟู ดังนั้นจึงมีมาตรการใหม่ในการฟื้นฟู บำบัด รักษาทางจิตใจ เพิ่มการศึกษา เพิ่มอาชีพให้กลับสู่งสังคมได้ คนรุ่นใหม่เมื่อกลับตัวได้ก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม ประเทศต่อไปได้ ในส่วนนี้รัฐต้องเข้าช่วยชุมชนให้เข้มแข็งด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image