ชัชชาติแจง ส.ก. ‘รถจักรยานยนต์กู้ชีพ’ ช้าเพราะคนไม่พอ เข้าใจถ้าตัดงบฯ ฝ่ายบริหารพลาดเอง – ก่อน สภากทม.เก็ทประโยชน์ โหวตให้ผ่าน
เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เข้าร่วมประชุม
ในตอนหนึ่ง น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย หรือ เนอส ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคประชาชน อภิปรายเรื่อง รถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินทางการแพทย์ (MOTORLANCE) ที่มีการพิจารณาขอกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 (แบบไม่มีหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณกรุงเทพมหานคร
ด้าน นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า โครงการ รถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินทางการแพทย์ (MOTORLANCE) เป็นโครงการนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในสภากรุงเทพมหานครชุดนี้ และเป็นครั้งแรกที่เริ่มนำมาใช้ทางการแพทย์ด้วย เป็นที่น่ายินดีที่ปีนี้คณะกรรมการ กพร.ได้ให้รางวัลโครงการ เลิศ รัฐ กับโครงการนี้ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ในสาขานวัตกรรมให้บริการประชาชนดีเด่น
ตนคิดว่าหน่วยงานภายนอกมั่นใจว่าโครงการนี้มีประโยชน์ แต่ส่วนตัวมองว่ามีปัญหาในส่วนที่โครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นเป็นปีแรกอาจจะมีอุปสรรคในเรื่อง ‘บุคลากร’ เพราะเรายังมีอัตราบุคคลที่ไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาคือ ให้โรงพยาบาลสามารถจ้างบุคลากรเพิ่มเติมได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีการจ้างบุคลากรเพิ่มขึ้นในหลายหน่วยแล้ว
ส่วนการฝึกอบรมบุคลากรจะใช้หลักสูตรเร่งรัดเพิ่มโดยร่วมกับ 2 หน่วยงานคือหน่วยรถพยาบาล และ หน่วยรถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินทางการแพทย์ (MOTORLANCE) ซึ่งตนคิดว่าทั้งสองกลุ่มนี้มีความสามารถที่ใกล้เคียงกัน ตนเชื่อว่าเรื่องบุคลากรและโรงพยาบาลจะสามารถพัฒนาบุคลากรที่จะทำงานในส่วนนี้ได้ทันเวลาแน่นอน
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ปัญหาอีกส่วนที่พบคือในโรงพยาบาลบางแห่งที่ตั้งอยู่แถบชานเมืองจะเห็นตัวเลขว่าแทบไม่มีการใช้งาน รถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินทางการแพทย์ (MOTORLANCE) เนื่องจากตั้งอยู่ในแถบที่การจราจรไม่ติดขัดมาก สามารถใช้งานรถพยาบาลได้ จึงไม่มีความจำเป็นในการใช้ รถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินทางการแพทย์ (MOTORLANCE) มากนัก อาจจะมีการจัดสัดส่วนให้เหมาะสมกับความต้องการอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนกรณีจำนวนรถในปีที่แล้ว เหตุใดจึงไม่มีการจดทะเบียนนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องเรียนว่ารถในปีที่แล้วไม่ใช่งบประมาณของส่วนราชการ แต่เป็นในส่วนเอกชนที่เห็นความจำเป็นและบริจาคให้ทั้งสิ้น 40 คันที่รับมาเป็นของหน่วยงาน กทม. 32 คัน ส่วนอีก 8 คันเราได้จำหน่ายไปยังโรงพยาบาลในเครือกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลศิริราช หรือโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้พาหนะ
“เพราะพวกเขาก็เป็นแม่ข่ายของระบบเรา และหน่วยงานภายนอกเราไม่สามารถบังคับให้รับโอนได้ จึงเป็นสาเหตที่เราไม่ได้รับโอนอีก 8 คัน” นายชัชชาติระบุ
นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ตนคิดว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ แต่เนื่องด้วยเป็นโครงการที่เพิ่งเกิดใน จึงมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าถ้าสามารถเพิ่มจำนวนรถได้อีก 50 คัน ให้บุคลากรเห็นว่าทางเรามีความจริงจังกับเรื่องนี้ ตนเชื่อว่าจะมีคนเข้ามาร่วมอบรมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
“แต่ถ้าตัดงบในส่วนนี้ไป เราก็เคารพทางสภากรุงเทพมหานคร เพราะปัญหาบางอย่างเกิดจากฝ่ายบริหารเอง ทำให้เรื่องนี้เกิดความล่าช้า” นายชัชชาติกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังอภิปรายจบ ส.ก. ร่วมลงมติ ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 โดย รายการรถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินทางการแพทย์ (MOTORLANCE) จำนวน 12 รายการ จำนวนเงิน 19 ล้านบาท ที่เสนอโดยสำนักการแพทย์นั้น ผลโหวตเสียงข้างมาก มีมติเห็นชอบ 32 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 งดออกเสียง 3
- อ่านข่าว : ชัชชาติ ยัน เขื่อนภูมิพลยังรับน้ำได้อีกเยอะ แต่เฝ้าระวังเต็มที่ ไม่มีคำว่าประมาท
- เร่งแผนพัฒนาเด็ก กทม. เน้นทักษะคิดเป็น ตั้งเป้าใช้อีเอฟ หวังทันใช้เปิดเทอม 2