พรรคเส้นด้าย แจง ดราม่าส.ก.พญาไท ลั่นกลางสภากทม. เขาเสียชีวิตหมดแล้ว ยันไม่ได้เหยียดเชื้อชาติ ชี้แค่ทวงถามวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 แสนโดสหายไปไหน ชี้กทม.ต้องรับผิดชอบต่อคนไทยที่เสียภาษีก่อน
จากกรณี เมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ที่ผ่านมาในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดย นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.พญาไท และเลขาธิการพรรคเส้นด้าย ได้กระทู้ถามสด เรื่อง การเตรียมการรับมือสถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร กล่าวตอนหนึ่งว่า “ท่านต้องดูแลประชาชนคนไทยให้มากกว่านี้ ท่านไปอยู่ตรงนั้น เขาเสียชีวิตหมดแล้ว แต่คนไทยที่ยังไม่เสียชีวิต ท่านต้องหันกลับมาดูแล ฉีดวัคซีนให้คนที่ยังไม่เสียชีวิต นะครับ ขอบคุณครับ”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เมษายน เพจเฟซบุ๊กของ พรรคเส้นด้าย ได้โพสต์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า “เมื่อการตั้งคำถามว่า ‘คนไทยควรได้วัคซีนก่อน’ กลายเป็นดราม่า
ท่ามกลางกระแสดราม่า ของผู้ว่าฯชัชชาติกับพรรคเส้นด้าย วันนี้ ส.ก.พีรพล กนกวลัย พูดถึงสถานการณ์ ที่ไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยเรื้อรัง ที่เข้าไม่ถึงวัคซีนที่ควรได้รับตามสิทธิขั้นพื้นฐาน
ศูนย์สาธารณสุข กทม. แจ้งพรรคเส้นด้ายว่า ‘วัคซีนหมด’ หรือ ‘ยังไม่มา’ ทั้งที่ทางกรุงเทพมหานครได้ประกาศว่ามีวัคซีนอยู่ในแผน มีงบประมาณรองรับ และมีการจัดสรรจำนวนหลายแสนโดส
เมื่อ ส.ก.พีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครจากพรรคเส้นด้าย ลุกขึ้นตั้งคำถามในสภา
เขาถามถึงความล่าช้าในการจัดสรรวัคซีน เขาถามถึงจำนวนวัคซีนที่กำลังจะหมดอายุในคลัง เขาถามว่าวัคซีนหายไปไหน 10,000 โดส ราชการอย่าง กทม. ทุจริตหรือไม่ เขาเสนอให้ กทม. ดำเนินการเชิงรุก เข้าถึงกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงตั้งคำถามว่าเหตุใดเราจึงยัง ‘รอ’ ให้คนไทยมาเข้าคิวรับวัคซีน แทนที่จะเดินเข้าไปหาคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
คำถามเหล่านี้ควรได้รับคำตอบเชิงนโยบาย แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่เขาได้รับกลับเป็น ‘ดราม่า’
หนึ่งในประโยคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือคำกล่าวว่า ‘เขา(พม่า)เสียชีวิตหมดแล้ว แต่คนไทยที่ยังไม่เสียชีวิตต้องกลับมาดูแล ผู้ว่าฉีดให้คนไทยก่อน (ก่อนจะไปห่วงพม่าที่อยู่ใต้ซากตึก สตง.)’
ข้อความดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ หรือไม่เห็นใจแรงงานต่างด้าวที่เสียชีวิต ทั้งที่ในความเป็นจริง ประโยคนี้สะท้อนเพียงเจตนาชัดเจนว่า หลัง 72 ชั่วโมงซึ่งเป็นชั่วโมงทองคำ ที่ผู้ประสบภัยมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด ซึ่งในชั่วขณะที่ ส.ก.พีรพลพูด เวลาทองคำนั้นได้ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้นตามหลักสากล ให้ปฏิบัติเยี่ยงผู้ประสบภัยได้เสียชีวิตแล้ว (พูดหลังเหตุการณ์ 5 วัน หรือเท่ากับ 120 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุ)
และที่สำคัญที่สุด กทม. ควรต้องรับผิดชอบต่อประชาชนไทยผู้เสียภาษี ให้ครบถ้วนก่อนเป็นอันดับแรก
การเห็นใจต่อผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุใดๆ ไม่ควรกลายเป็นข้ออ้างในการ เบี่ยงเบนประเด็นการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ ซึ่งในปีที่แล้วคนไทยเสียชีวิต 51 คนจากไข้หวัดใหญ่
ในฐานะผู้แทนประชาชน ส.ก.พีรพลมีหน้าที่พูดในสิ่งที่ประชาชนไทยกำลังเผชิญอยู่จริง และประชาชนเหล่านั้นคือผู้สูงอายุในบ้านของเรา เด็กเล็กในชุมชนของเรา และผู้ป่วยติดเตียงที่ลูกหลานไม่สามารถพาไปฉีดวัคซีนได้ทัน
หากวันนี้กทม.ยังไม่สามารถจัดการ ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน หากวันนี้ประชาชนต้องรอวัคซีนที่กำลังจะหมดอายุ ทั้งที่เป็นของที่จัดสรรแล้ว หากวันนี้การพูดคำว่า ‘ขอให้ดูแลคนไทยก่อน’ กลายเป็นสิ่งที่ถูกด่ามากกว่าการส่อโกงวัคซีน เราอาจต้องสูญเสียชีวิตของคนไทยไม่น้อยกว่า 50 ชีวิต
สุดท้ายเราควรถามกลับว่า-ในวันที่ผู้ว่าฯห่วงศwwม่า มากกว่าชีวิตคนไทย วันหน้าชาติไทยจะเหลืออะไร
พรรคเส้นด้ายขอยืนยันว่า การตั้งคำถามถึงความโปร่งใส ไม่ใช่การเหยียดชาติพันธุ์ การเรียกร้องสิทธิให้ประชาชนไทย ไม่ได้หมายถึงการลบหลู่ชีวิตของใคร และการตรวจสอบผู้บริหารที่ตอบเลี่ยงประเด็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือหน้าที่ที่เราจะไม่ถอย
พีรพล กนกวลัย เลขาธิการพรรคเส้นด้าย 2 เมษายน 2568″