สัตวแพทย์แนะ เจอหมีอย่าแกล้งตาย เดี๋ยวจะตายจริง ชี้ ‘เจ้าแก้ว’ แค่หยอกเล่นและสงสัย ผสมความเครียด ไม่ได้ตั้งใจฆ่า

กรณีหมีควายเพศเมียชื่อเจ้าแก้วทำร้ายนายสายฝน พรหมลัทธิ์ อายุ 38 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากไปหยอกล้อกับหมีควาย ที่สำนักสงฆ์สวนสมุนไพรหลวงปู่ละมัย หมู่ 8 ต.บ้านโตก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ที่อยู่ในกรงเลี้ยงไว้ในคอกกำแพงปูน ซึ่งขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์นั้น

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 3 สิงหาคม 2560 นายสุธีร์ ลอยมา หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เมื่อได้รับแจ้งว่ามีเหตุหมีควายทำร้ายคน จึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบพร้อมกับนายไกรศร กองสลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์ คณะสัตวแพทย์จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อนำหมีควายตัวดังกล่าวไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ โดยทำบันทึกรับคืนของกลาง โดยนายธนพร ถนอมวัฒนันต์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาค้อ กับ นางวันดี อยู่ขันสวัสดิ์ อายุ 57 ปี ผู้ดูแลรับผิดชอบหมีของกลางดังกล่าว

นายสุธีร์กล่าวต่อว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดยิงยาสลบได้ทำการยิงยาสลบถึง 3 เข็มกว่าหมีควายจะสิ้นฤทธิ์ จากนั้นได้ทำการเคลื่อนย้ายไปยังสถานีเพาะเลี้ยงฯ โดยสัตวแพทย์ได้ตรวจสุขภาพหมีควายตัวดังกล่าว พบมีอายุ 6-7 ปี เป็นหมีที่โตเต็มวัยแล้ว มีสุขภาพแข็งแรงดี แต่มีน้ำหนักเกินมานิดหน่อย และยังอยู่ในภาวะที่เครียดอยู่ ซึ่งทางสถานีเพาะเลี้ยงจะดูแลหมีควายจนกว่าจะไม่มีอาการเครียดหายเป็นปกติ จากนั้นอาจต้องเสนอไปยังผู้บริหารระดับสูงในการย้ายหมีควายตัวดังกล่าวไปยังสถานีเพาะเลี้ยงแห่งอื่น เนื่องจากที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อมีกรงที่ค่อนข้างจำกัดกับสัตว์ป่าที่มีอยู่ในขณะนี้

ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีนำฝากสัตว์ป่าของกลางไปยังวัดหรือสำนักสงฆ์ว่า ตนไม่ขอพูดว่าการดำเนินงานในอดีตเป็นอย่างไร แต่ในยุคของตน เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถจับสัตว์ป่าของกลางได้ ต้องนำส่งไปยังสถานที่ของรัฐหรือกรมอุทยานแห่งชาติฯเท่านั้น เนื่องจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเป็นสถานที่ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย การวิจัยอาหารและโภชนาการ สุขภาพของสัตว์ป่า ตลอดจนการดำเนินการกับสัตว์ป่าของกลางและสัตว์ป่าที่ประชาชนมอบให้สนับสนุนข้อมูลและบริการข้อมูล ซึ่งเป็นสถานที่ที่สามารถดูแลสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปฝากสัตว์ป่าของกลางไว้ที่อื่น

Advertisement

นายสัตวแพทย์ (นสพ.) ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวว่า หมีตัวดังกล่าวโดยพฤติกรรมคือคิดว่าตัวเองเป็นสัตว์เลี้ยง แต่โดยสัญชาตญาณคือเป็นสัตว์ป่า ประกอบกับความเครียดที่เกิดขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นรอบตัว เช่น เสียงตะโกนของคนที่อยู่ปากบ่อ หรือการที่ต้องอยู่รวมกับหมูป่าก่อนหน้านี้ กรณีที่เกิดขึ้นนั้น มั่นใจว่าหมีไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าหรือทำร้ายคนที่ตกลงไปในบ่อ แต่จากปัจจัยหลายๆอย่างรวมกันคือ ความเครียด ความสงสัย จึงต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตกลงไปในบ่อคืออะไร

“โดยธรรมชาตินั้นหมีเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ดี ระบบสัมผัสที่ดีที่สุดของหมีคือจมูก โดยจมูกหมีจะดีกว่าจมูกหมาถึง 5 เท่า โดยหมีนั้นจะใช้จมูกคู่กับปากเพื่อพิสูจน์สิ่งที่มันสงสัย โดยใช้จมูกดม ปากงับ ขบ และใช้มือตะปบ ไม่ได้ทำด้วยความโหดร้ายหรือต้องการฆ่า แต่เป็นพฤติกรรมตามสัญชาตญาณ เพราะหากมันต้องการฆ่าจริงๆมันจะกัดเนื้อแบบกระชากและใช้มือตะปบอย่างรุนแรง กรณีนี้แค่การขบ และสะกิดดูเพื่อให้หายสงสัยเท่านั้น แต่เนื่องจากหมีเป็นสัตว์ใหญ่ แรงเยอะ การขบหรือการสะกิดเบาๆ สามารถสร้างรอยแผลใหญ่ๆ ได้แน่นอน” นสพ.ภัทรพลกล่าว

เมื่อถามว่า กลอุบายที่ว่า หากเจอหมีจะเข้ามาทำร้ายให้แกล้งตาย ใช้ได้ผลจริงหรือไม่ นสพ.ภัทรพลกล่าวว่า ในประเทศหนาว ความหนาวอาจจะทำให้จมูกหมีมีอาการชา หากเจอหมีแล้วนอนนิ่งไม่กระดุกกระดิกอาจจะได้ผล แต่ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน วิธีการนี้ใช้ไม่ได้ผลแน่นอน เจอหมีในระยะกระชั้นชิดมันจะได้กลิ่นเหงื่อกลิ่นตัวทันที จะถูกขบกัด กระชาก แม้จะออกแรงไม่มาก แต่ด้วยคมเล็บและเขี้ยวที่ใหญ่แหลมคม มีสิทธิตายได้ทุกราย

Advertisement

“ดังนั้น อย่าพยายามแกล้งตาย เพราะอาจจะตายได้จริงๆ เมื่อเจอหมี วิธีการที่ดีที่สุดคือ ตั้งสติ พยายามวิ่งหนีให้เร็วที่สุด หาอะไรมากั้นให้พ้นจากกรงเล็บ หรือพยายามตอบโต้ ทั้งนี้ การเอาไม้ตีหัวหรือตีตามลำตัวไม่ได้ผลแน่นอน เพราะขนและหนังหมีหนามาก จะต้องตีไปที่บริเวณจมูก เพราะเป็นจุดที่มีขนน้อยที่สุด และเป็นศูนย์รวมของปลายประสาท” นสพ.ภัทรพลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image