เสวนา พัฒนาเจ้าพระยาให้ยั่งยืน ชี้แม้แต่โครงการระยะสั้นยังทิ้งร้าง นับประสาอะไรกับโครงการใหญ่อย่างทางเลียบ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 5 สิงหาคม ที่พิพิธบางลำภู ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร ประชาคมบางลำพู ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงาน “เทศกาลริมน้ำบางกอก Fromstrange to Neighbours” เพื่อถ่ายทอดวิถีชุมชนประวัติศาสตร์ริมน้ำเจ้าพระยา พร้อมจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไรให้ยั่งยืน” มีตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้แก่ ชุมชนบ้านปูน ชุมชนบางอ้อ ชุมชนกุฏีจีน ร่วมเสวนา ทั้งนี้ ยังมีประชาชนและสื่อมวลชนสนใจเข้าร่วมงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

นายประมาณ มุขตารี ตัวแทนจากชุมชนบางอ้อ กล่าวว่า โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาอาจส่งผลให้เกิดอุปสรรคแก่ชุมชนในการเข้าถึงเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา และส่งผลกระทบต่อเรือ ประชาชนผู้โดยสารเรือ สำหรับทางชุมชนของตนไม่เคยมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว กทม.ไม่เคยสอบถามประชาชนอย่างจริงจัง แม้ที่ผ่านมาจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน กทม.มีธงอยู่ในใจอยู่แล้วว่าจะเริ่มดำเนินโครงการทางเลียบเจ้าพระยา

นางปิ่นทอง วงษ์สกุล ตัวแทนจากชุมชนกุฏีจีน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางชุมชนได้รับผลกระทบจากการสร้างแนวเขื่อนกันน้ำท่วมของกทม.ทำให้บดบังทัศนียภาพสิ่งปลูกสร้างในชุมชน และยังทำให้เกิดอุปสรรคสำหรับประชาชนที่เดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่สำคัญอีกด้วย ขอยืนยันว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตอยู่ของคนริมน้ำ เนื่องจากชุมชนใช้ชีวิตริมน้ำมาอย่างยาวนาน ทำให้คนภายในชุมชนรู้ว่าสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาในแต่ละช่วงเวลาจะเป็นอย่างไร

Advertisement

นางรวีวรรณ สมิตะมาน ตัวแทนชุมชนบ้านปูน กล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปี 2538 ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชน เนื่องจากน้ำขังบริเวณใต้ถุนบ้านของประชาชนในชุมชน ไม่สามารถระบายได้ แม้ชาวบ้านจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ นอกจากนี้ แนวเขื่อนกันน้ำท่วมทำให้ทัศนียภาพของชุมชนแย่ลงกว่าเดิม สำหรับโครงการทางเลียบนั้น ตนไม่อยากให้รัฐนำงบมหาศาลมาดำเนินการก่อสร้าง แต่อยากให้นำงบดังกล่าวมาช่วยปรับปรุงคูคลองและเแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สะอาดและพัฒนาเส้นทางการสัญจรตามคูคลองต่างๆ ในกทม.จะดีกว่า

นางอรศรี ศิลปี ประธานชุมชนบางลำภู กล่าวว่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยาส่งผลให้บางลำพูมีเสน่ห์ เป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายวัฒนธรรมไทย ตนไม่เห็นด้วยการก่อสร้างทางเลียบของกทม.เนื่องจากที่ผ่านมา คนในชุมชนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาทุกด้าน ต่างเห็นควรว่าแม่น้ำไว้เดินเรือ ไม่ใช้ไว้ให้รถวิ่งหรือสร้างถนน นอกจากนี้ สวนสันติชัยปราการได้จัดกิจกรรมชุมชนจัดกิจกรรมออกกำลังกาย โดยทางกทม.ได้มีการสร้างทางเลียบระยะสั้นตั้งแต่บริเวณใต้สะพานปิ่นเกล้าจนถึงสวนสันติชัยปราการ ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันพบว่าถูกทิ้งให้รกร้าง ทางเดินบางจุดชำรุด เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยจากทั้งมิจฉาชีพ ไม่เคยได้รับการเหลียวแล

“โครงการดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนแต่อย่างใด และชุมชนบางลำภูต้องการให้ เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลปัญหาเดิมที่มีอยู่ก่อน จึงค่อยหาทางพัฒนาชุมชนโดยรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านต่อไปแม้โครงการเล็กที่กทม.ก่อสร้าง ยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากเจ้าหน้าที่ เป็นการผลักภาระให้ชาวบ้านต้องคอยดูแลกันเอง แล้วโครงการทางเลียบที่มีขนาดใหญ่กว่ามากจะไม่พบปัญหาเช่นเดียวกับโครงการเล็กๆ ดังกล่าวหรืออย่างไร” นางอรศรี กล่าว

Advertisement
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า อยากทราบว่าโครงการที่ลงทุนด้วยงบประมาณมหาศาล ตอบโจทย์อะไรให้แก่ประชาชน แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้เป็นแต่ของคนกรุงเทพฯ หรือเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครเพียงผู้เดียว แต่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยอันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ ฉะนั้นการรับฟังความเห็นของภาครัฐจึงต้องเปิดกว้างกว่านี้ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการดังกล่าว รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบต่อชุมชนให้อย่างทั่วถึงและรอบด้านก่อนจะเริ่มดำเนินโครงการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image