อย.ยัน “น้ำดื่มบรรจุขวด” ของไทยมีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่องค์กรสื่อไม่แสวงผลกำไร Orb Media ในสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษา พบว่าน้ำดื่มบรรจุขวดหลายยี่ห้อที่วางจำหน่ายใน 9 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีการปนเปื้อนของอนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก อาจมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดนั้น ขอชี้แจ้งว่าจากข่าวดังกล่าว ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดจากรายงานการศึกษาหรือจากงานวิจัยที่ระบุว่า การปนเปื้อนดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งทั้งองค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายังไม่ได้รับรองผลการศึกษาดังกล่าว

“สำหรับประเทศไทย น้ำดื่มบรรจุขวดยังคงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดตามมาตรฐานสากล ซึ่งประกอบด้วย ภาชนะบรรจุขวดน้ำดื่มที่ทำจากพลาสติกต้องมีคุณภาพเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ.2548 เช่น สะอาดไม่มีสารหรือสีออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค พบปริมาณตะกั่วและแคดเมียมในพลาสติกได้ไม่เกินชนิดละ 100 มิลลิกรัม (มก.) ต่อ 1 กิโลกรัม (กก.) เป็นต้น ในส่วนของน้ำดื่มจะต้องมีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 61) พ.ศ.2524 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอ้างอิงตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทางด้านสถานที่ผลิตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) มีการควบคุมการผลิต ตั้งแต่การปรับคุณภาพน้ำเพื่อขจัดอันตรายและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ จนทำให้น้ำมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงต้องมีการล้างภาชนะก่อนการบรรจุทุกครั้ง” นพ.วันชัย กล่าวและว่า ส่วนข้อมูลใหม่จากองค์กรสื่อไม่แสวงผลกำไรของสหรัฐ คงต้องรอเวลาการพิสูจน์จากนานาชาติ รวมถึง USFDA ซึ่งหากมีข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ และได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ ประเทศไทยก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนข้อกำหนดใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image