ทีมผู้ตรวจการฯ วัดความกว้างซอยพหลฯ11 งง!ถนนแคบแต่ผุดตึกสูง

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นำคณะเข้าประชุมร่วมกับ นายไชยา โชติวรรธกวณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตพญาไท นายณัฎฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และชมรมอนุรักษ์พญาไท ที่สำนักงานเขตพญาไท หารือแนวทางแก้ไขปัญหากรณีชมรมอนุรักษ์พญาไทร้องเรียน กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมากในพื้นที่ พร้อมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบความกว้างของถนนภายในซอยถนนพหลโยธิน 11 รวม 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณปากซอย พบถนนมีความยาว 8.97 เมตร (ม.) จุดที่ 2 บริเวณช่วงต้นซอยถนนพหลโยธิน 11 ยาว 9.03 ม. จุดที่ 3 ช่วงกลางซอย ยาว 9.18 ม. และจุดที่ 4 บริเวณหน้าคอนโดมิเนียมเดอะเครสท์ พหลโยธิน 11 ยาว 9.60 ม.

นายรักษเกชา เปิดเผยภายหลังหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง ว่า ชมรมอนุรักษ์พญาไทร้องเรียนพร้อมเสนอว่า 1.ควรปรับปรุงกฎหมายผังเมืองให้สอดคล้องกันสภาพปัจจุบัน ขณะนี้ถนนพหลโยธิน ตามผังเมืองรวมได้กำหนดให้เป็นพื้นที่สีน้ำตาล (ย.9) สามารถก่อสร้างอาคารได้ตามสัดส่วน แต่ขณะนี้พื้นที่เริ่มแออัด หากไม่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ควรมีแนวทางหรือมาตรการออกมารองรับ 2.ควรมีกฎหมายอื่นประกอบการพิจารณาผังเมืองรวม อาทิ เรื่องสถานที่จอดรถ เป็นต้น 3.ให้ สผ.ทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะพบว่ายังบิดเบือนข้อเท็จจริง และเห็นควรให้ดำเนินการในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูง และ 4.ความกว้างของถนนสำหรับก่อสร้างอาคารสูง กำหนดไว้ 10 ม.ตลอดแนว อาจต้องทำให้เกิดความสมดุลในการอนุญาตก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งจะนำประเด็นทั้งหมดรายงานต่อ พล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การหารือครั้งต่อไป จะเชิญผู้แทนจากกรมที่ดิน ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมแก้ไขปัญหาด้วย

Advertisement

ด้านนายอนันตชัย ไชยเดช ทนายความ กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้น พบร้อยละ 90 ทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ พื้นที่ไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ถนนหน้าโครงการจะต้องมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 10 ม. ตลอดแนว แต่ถนนบริเวณซอยอารีย์ 1 หรือ ซอยพหลโยธิน11 มีความกว้างไม่ถึง 10 ม. ดังนั้น ตึกสูงที่สร้างขึ้นบริเวณนี้ประมาณ 6-7 ตึก เข้าข่ายลักษณะเดียวกับอาคารดิเอทัส ซอยร่วมฤดี เขตปทุมวัน

“ขณะนี้ผมยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามกระบวนการกฎหมาย แต่หากชุมชนมอบหมายให้ดำเนินการ เชื่อว่าต้องรื้อและจะต้องมีผู้รับผิดจำนวนมาก” นายอนันตชัย กล่าวและว่า อยากให้การก่อสร้างอาคารบริเวณเขตพญาไทเป็นบรรทัดฐาน ในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image