สธ.ยกร่าง กม.ตั้ง ‘สถาบันพระบรมราชชนก’ เพิ่มความคล่องตัวผลิตบุคลากรสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 18 เมษายน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติและรับทราบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. …ว่า สาเหตุที่ต้องออกกฎหมายกำหนดให้สถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางของรัฐในสังกัด สธ. เนื่องจากที่ผ่านมา การเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ ของสถาบันฯ จะไปผูกกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จำนวน 37 แห่ง ผูกกับมหาวิทยาลัย 7 แห่ง ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตบัณฑิตตามความต้องการด้านกำลังคนของ สธ.ได้ เนื่องจากการทำหลักสูตร หรือการรับจำนวนนักศึกษาขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ขณะที่เวลารับปริญญาก็เหมือนกับอยู่คนละสถาบัน ต้องใช้ครุยถึง 7 สี 7 แบบ ตามที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนด

“เพื่อให้การผลิตกำลังคนด้านสาธารณสุขสอดคล้องกับแผนของ สธ. จึงมีการยกระดับสถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของ สธ. คล้ายกับสถาบันการพลศึกษา ที่ยกระดับขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น ซึ่งหลังจาก ครม.อนุมัติในหลักการแล้ว จะส่งร่าง พ.ร.บ.ฯ ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามลำดับ เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ การที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของ สธ. จะส่งผลให้สามารถพัฒนาการศึกษา จัดการเรียนการสอน และกำลังคนตามความต้องการของระบบสาธารณสุขได้ เบื้องต้นจะมีการเปิดสอน 2 คณะ คือ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ เช่น ทันตาภิบาล สาธารณสุขศาสตร์ โสตทัศนศึกษาทางการพทย์ เป็นต้น” พญ.พรรณพิมล กล่าว

นอกจากนี้ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ยังกำหนดให้วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีทุกแห่ง วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม และวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก ที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศ สธ.เป็นส่วนราชการของสถาบันฯ ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image