สัมมนาหาทางออกวิกฤตข้าว (คลิป)

ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)และ มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) ได้จัดงานงานประชุม “ระดมความคิดและประสบการณ์เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และเสนอทางออกเรื่องข้าวและสินค้าเกษตร” โดยมีวิทยากรจากหลากหลายวิชาชีพ

ที่ประชุมส่วนใหญ่มองว่าปัญหาหลัก มาจากนโยบายของรัฐบาล และกระต้นทุนการผลิตของชาวนา นายประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกวันนี้ข้าวคุณภาพดีมีน้อยมาก ปัญหาเกิดจากโครงสร้างการผลิตข้าวที่เริ่มมาตั้งแต่การปฏิวัติเขียวที่รัฐพาเกษตรกรเดินมาจนถึงวันนี้ คือ เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออก รัฐมีหน้าที่สนับสนุนค่าปุ๋ยค่ายาและคอยเก็บส่วนต่างจากชาวนา ในแง่ของการปรับมาสู่โครงสร้างที่ยั่งยืน ก็ต้องมีคำถามว่าจะปรับอย่างไร มีมาตราการอย่างไร รวมไปถึงนโยบายที่จะลดพื้นที่การปลูก สนับสนุนการปลูกข้าวคุณภาพ ก็ต้องมีการวางนโยบาย มาตรการอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนข้าวคุณภาพต่ำในระยะสั้นก็ต้องมีมาตราการที่จะช่วยให้ชีวิตของเกษตรกรยังคงอยู่ได้

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า นอกจากปัญหาข้าวแล้ว อยากให้มองในรูปของผลผลิตการเกษตรมากกว่า เพราะกระทบกันหมด ล่าสุดในรัฐบาลนี้ ได้เปิดให้มีการนำเข้าข้าวโพดและอาหารสัตว์โดยไม่จำกัดจำนวนและเวลา ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทใหญ่ มากกว่าเกษตรกรภายในประเทศ ซึ่งต้องแก้ไขในเรื่องของเงื่อนเวลา เพราะตอนนี้มีการเก็บเกี่ยวไปมากกว่าครึ่งและสิ้นพฤศจิกายนนี้การเก็บเกี่ยวข้าวโพดจะมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนโยบายที่ออกมาจะไม่ทันการณ์ ส่วนโครงสร้างปัญหาเรื่องข้าว คือ ต้นทุนการทำนาของประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน และสอง คือ เรื่องปัญหาที่ดิน ที่มีเกษตรกรที่ทำนาในที่ดินตัวเองเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่นั้นอยู่อันดับท้ายๆ ของอาเซียน ถ้าเราไม่แก้สองเรื่องสำคัญ คือ นโยบายของรัฐที่เอื้ออำนวยต่อบริษัทใหญ่ และปัญหาต้นทุนในการทำงาน ปัญหานี้ก็จะยังวนเวียนต่อไป

Advertisement

ด้าน นายเติมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากผลผลิตคาร์โบไฮเดรต ทั้งสามชนิด ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด ส่วนหนึ่งส่งผลจากการที่รัฐบาลนำเข้าข้าวสาลีมามากเกินไป ส่งผลต่อโครงสร้างราคาและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร

นายธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า หากพิจารณาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงรายละเอียดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นหลักการเกษตรแม่นยำที่คาดการณ์ว่าพื้นที่ใดเหมาะไม่เหมาะ ซึ่งภาครัฐไม่เองสามารถที่จะบังคับให้เลิกปลูกข้าวได้ แต่ได้พยายามสร้างทางเลือกให้มากขึ้นและไม่ทำลายพื้นที่ปลูกข้าว เช่นการปลูกปุ๋ยพืชสด ปอเทียม โดยกระทรวงเกษตรจะให้การสนับสนุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image