Science Insights ‘นาคเล่นน้ำ’ พายุงวงช้างแสนอัศจรรย์ : โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

พายุหมุนซึ่งรูปร่างเป็นลำยาวๆ ที่เกิดเหนือผืนน้ำนั้น คนไทยจำนวนหนึ่งเรียกว่า “พายุงวงช้าง” แต่ชื่อที่ตรงกว่าคือ “นาคเล่นน้ำ” หรือ “พวยน้ำ” ซึ่งฝรั่งเรียกว่า waterspout (เขียนติดกันเสมอ โดยที่ water คือน้ำ ส่วน spout หมายถึง ลำน้ำ หรือของไหลที่พุ่งออกมาอย่างรุนแรง)

หากมองภาพรวมทั่วโลก ในบางพื้นที่นาคเล่นน้ำอาจเกิดได้ทุกเดือนตลอดทั้งปี แต่เดือนที่เกิดบ่อหน่อย คือ สิงหาคมและกันยายน 

ลองดูสถิติของนาคเล่นน้ำที่เกิดที่ Croatian Adriatic coast ในช่วงปี ค.ศ. 2001-2011 ได้ที่

https://www.researchgate.net/figure/Monthly-distribution-of-number-of-waterspout-events-and-waterspout-days-along-the_fig4_265022556

Advertisement

หรือสถิตินาคเล่นน้ำที่เกิดที่ Great Lakes ในช่วงปี ค.ศ. 1998-2018 ได้ที่ https://weather.com/science/weather-explainers/news/2020-08-07-great-lakes-waterspouts-lake-effect-season 

ส่วนในบ้านเรา ผมยังไม่ค้นสถิติอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับนาคเล่นน้ำไม่พบ (ถ้าใครมี หรือพบแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ก็ช่วยชี้เป้าด้วยครับ – ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ) 

ด้วยความที่หาไม่พบนี่เอง ทำให้หลายปีก่อนผมลองสืบค้น-รวบรวมข้อมูลเองเอาไว้ 24 กรณี หากสนใจก็ตามไปอ่านบทความสนุกๆ และดูสถิติที่ผมเคยรวบรวมไว้ได้จากบทความ “พายุงวงช้างในประเทศไทย” ตรงนี้นะครับ https://www2.mtec.or.th/th/e-magazine/admin/upload/295_66.pdf  

‘นาคเล่นน้ำ’ มาจากไหน? ทำไมจึงเกิดท่อเชื่อมเมฆและผืนน้ำได้?

นักอุตุนิยมวิทยาบอกว่า นาคเล่นน้ำมี 2 แบบครับ

นาคเล่นน้ำแบบแรกเป็นพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นเหนือผืนน้ำ (ซึ่งอาจจะเป็นทะเล ทะเลสาบ หรือแอ่งน้ำใดๆ) โดยพายุทอร์นาโดจะเกิดขึ้นระหว่างที่ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก เรียกว่า พายุฝนฟ้าคะนองแบบซูเปอร์เซลล์ (supercell thunderstorm) และมีระบบอากาศหมุนวนที่เรียกว่า เมโซไซโคลน (mesocyclone)  พายุนาคเล่นน้ำแบบนี้จึงเรียกว่า นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโด (tornadic waterspout) 

ส่วนนาคเล่นน้ำอีกแบบหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกว่า และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เกิดจากการที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยบริเวณใกล้ๆ ผิวน้ำมีความชื้นสูง และไม่ค่อยมีลมพัด (หรือถ้ามีก็พัดเบาๆ เอื่อยๆ) ผลก็คือ อากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำซึ่งอุ่นในบางบริเวณจะยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จากนั้นอากาศจะพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไป  แบบนี้เรียกว่า นาคเล่นน้ำของแท้ (true waterspout) หรือ นาคเล่นน้ำที่เกิดในช่วงอากาศดีพอสมควร (fair-weather waterspout)

เพื่อให้เป็นรูปธรรม Met Office ของอังกฤษจัดทำคลิปสั้นๆ ดูง่ายๆ เรื่อง  เอาไว้ตรงนี้ https://www.youtube.com/watch?v=TSLRSFpgIbI

จุดแตกต่างสำคัญอย่างหนึ่งระหว่างนาคเล่นน้ำทั้งสองแบบนี้ก็คือ นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโดจะเริ่มจากอากาศหมุนวน (ในบริเวณเมฆฝนฟ้าคะนอง) แล้วหย่อนลำงวงลงมาแตะพื้น คือ อากาศไหลวน “จากบนลงล่าง” 

ส่วนนาคเล่นน้ำของแท้นั้น จะเริ่มจากอากาศหมุนวนบริเวณผิวพื้นน้ำ แล้วพุ่งขึ้นไป คือ “อากาศไหลวน “จากล่างขึ้นบน” 

ชมคลิปการหมุนวนของอากาศจากล่างขึ้นบน และสังเกตว่านาคเล่นน้ำ 2 เส้น สามารถ “รวมตัว” กันได้!

https://www.facebook.com/buncha2509.lovecloud/videos/678464018919054 

ในบทความส่วนที่เหลือต่อไปนี้ ผมจะขอเล่าถึง “นาคเล่นน้ำของแท้” เนื่องจากเป็นแบบที่เกิดในบ้านเราครับ

.

ช่วงที่อากาศพุ่งขึ้นเป็นเกลียววนนี้ หากน้ำในอากาศยังอยู่ในรูปของไอน้ำ เราจะยังมองไม่เห็นอะไร แต่หากอากาศขยายตัวและเย็นตัวลงถึงจุดหนึ่ง ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมาก ทำให้เราเห็นท่อหรือ ‘งวงช้าง’ เชื่อมผืนน้ำและเมฆ

คลิปชื่อ  Do You Know How Waterspouts Form? ข้างล่างนี้มีภาพประกอบมากมาย และแสดงการเกิดนาคเล่นน้ำของแท้เอาไว้ (แต่หน่วยต้องทำใจนิดนึงเพราะใช้เป็นฟุต ไมล์ต่อชั่วโมง ฯลฯ ตามความนิยมของคนอเมริกัน

.

นาคเล่นน้ำมีลักษณะเฉพาะอย่างนี้ครับ

 

  • ยาวประมาณ 10-100 เมตร แต่ยาวมากถึง 600 เมตร ก็เคยพบ
  • เส้นผ่านศูนย์กลางแค่ 1 เมตร ไปจนถึงหลายสิบเมตร 
  • ในนาคเล่นน้ำแต่ละเส้น อาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้! โดยแต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที (ลองเปรียบเทียบกับพายุทอร์นาโดที่เกิดจากเมฆซูเปอร์เซลล์จะหมุนวนเร็วกว่าคือ 40-150 เมตรต่อวินาที) 
  • กระแสลมในนาคเล่นน้ำเร็วในช่วง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เคยพบว่าสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็มี (คว่ำเรือลำย่อมๆ ได้)
  • นาคเล่นน้ำเคลื่อนที่ได้เร็วตั้งแต่ 3 ถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าประมาณ 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงมีคำแนะนำสำหรับชาวเรือว่า ให้สังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ให้ดี แล้วหนีไปในทิศตรงกันข้าม (ซึ่งอาจโชคดีหนีได้ทัน)
  • พายุนาคเล่นน้ำมีอายุไม่ยืนยาวนัก คืออยู่ในช่วง 2-20 นาที (แต่นานถึง 30 นาทีก็เคยพบ) และหากนาคเล่นน้ำขึ้นฝั่ง ก็จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว

นาคเล่นน้ำมักจะเกิดพร้อมๆ กันคราวละหลายตัว จำง่ายๆ ว่า “นาคเล่นน้ำชอบมากันเป็นครอบครัว”+

ตามสถิติที่ค้นได้พบว่า นาคเล่นน้ำเคยเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว 7 เส้นที่ Great Lakes ตามแนวพรมแดนระหว่างแคนาดากับอเมริกา เหตุการณ์พิเศษนี้มีชื่อเรียกว่า เหตุการณ์นาคเล่นน้ำครั้งมโหฬารแห่งปี 2003 (The Great Waterspout Outbreak of 2003) เพราะมีนาคเล่นน้ำปรากฏโฉมถึง 66 ตัว (เป็นอย่างต่ำ) ในช่วงเวลา 7 วัน คือตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ถึง 3 ตุลาคม ค.ศ. 2003

หากสนใจกรณีศึกษาเหตุการณ์นาคเล่นน้ำครั้งมโหฬารแห่งปี 2003 ก็อ่านได้จากเรื่อง The Great Waterspout Outbreak of 2003 เขียนโดย Wade Szilagyi ใน Mariners Weather Log Vol. 48 No. 3 December 2004 ที่ http://vos.noaa.gov/MWL/dec_04/waterspout.shtml 

เหตุใด ‘นาคเล่นน้ำจึงมักมากันเป็นครอบครัว’? ผมเคยเขียนบทความอธิบายไว้แล้วที่ https://www.matichon.co.th/article/news_1098849 

ชมภาพวาดของฝรั่งแสดงนาคเล่นน้ำหลายเส้นโจมตีเรือได้ที่ http://www.mieliestronk.com/tornados.html

ส่วนในสหรัฐอเมริกาเองนั้น นาคเล่นน้ำมักจะเกิดแถวๆ ฟลอริดาในบริเวณที่เรียกว่า ฟลอริดาคียส์ (Florida Keys) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า นาคเล่นน้ำอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครื่องบินและเรือจำนวนมากสูญหายไปในบริเวณสามเหลี่ยมลึกลับนี้ก็เป็นได้! (นอกเหนือจากทฤษฎีประตูทะลุมิติ หรือมนุษย์ต่างดาวมาจับตัวไป)

ถ้าใครโชคดีมีโอกาสได้เห็นหรือเก็บภาพนาคเล่นน้ำไว้ได้ ก็ส่งมาให้ผมได้ชมบ้างครับ 😀 

แนะนำขุมทรัพย์ทางปัญญา

International Centre For Waterspout Research (ICWR) ที่ https://www.icwr.ca/ 

ภาพประกอบ นาคเล่นน้ำที่อ่าวบางตะบูน เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2556 เวลา 16:31 น. ภาพโดย คุณกลยุทธิ์ เชาวน์คุณ

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ :

Facebook : https://www.facebook.com/MatichonMIC/

#ScienceInsights #เมฆ #พายุ #วิทย์ #ศูนย์ข้อมูลมติชน #MatichonMIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image