Science Insights : ชวนดู ‘หมวกเมฆ’  โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ  

ใครที่ชอบมองท้องฟ้า บางทีโชคดีอาจจะเห็นเมฆลักษณะแปลกๆ โดยบนเมฆก้อนจะมีเมฆบางๆ ปกคลุมอยู่ เมฆบางๆ นี้เรียกว่า หมวกเมฆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pileus (ไพลีอัส)

คำว่า pileus เป็นภาษาละติน แปลว่า cap (หมวก) และน่ารู้ด้วยว่าในทางชีววิทยาก็มีการใช้คำว่า pileus ซึ่งหมายถึง หมวกเห็ด  ด้วยเช่นกัน

ชมภาพเห็ดและหมวกเห็ด ได้ที่นี่  คลิก

ฝรั่งยังเรียกหมวกเมฆด้วยชื่ออื่นๆ อีกด้วยเช่น Scarf Cloud (เมฆผ้าคลุม) และ Cap Cloud (เมฆหมวกแก๊ป) อย่างไรก็ดี คำว่า cap cloud มักจะใช้กับเมฆที่ลอยอยู่เหนือภูเขาและมีกลไกการเกิดแตกต่างจากหมวกเมฆซึ่งลอยอยู่บนเมฆก้อนที่เรากำลังสนใจอยู่นี้

Advertisement

แล้วหมวกเมฆเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน

อธิบายโดยย่อ ก็คือ หากเหนือยอดเมฆก้อนมีกระแสอากาศไหลผ่าน ในขณะเดียวกันเมฆก้อนก็กำลังเติบโตขึ้นในแนวดิ่งด้วย ผลก็คืออากาศที่ไหลผ่านเหนือยอดเมฆก้อนจะถูกผลักให้พุ่งสูงขึ้นไปด้วย  

หากอากาศที่ถูกผลักขึ้นไปนี้มีความชื้นเพียงพอและมีอุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงจุดน้ำค้าง (dew point) ไอน้ำในอากาศก็จะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำขนาดเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อมองโดยรวมก็คือ หมวกเมฆ นั่นเอง 

ชมการเกิดหมวกเมฆหลายจุดเหนือยอดเมฆ ได้ที่นี่  คลิก

แผนภาพแสดงการเกิดหมวกเมฆ
ที่มาของรูป คลิก

หากหมวกเมฆอยู่ใต้เมฆก้อนขนาดใหญ่จะหมายความว่า ในเมเฆก้อนนั้นอากาศกำลังปั่นป่วนและอาจมีฝนตกได้ ยิ่งถ้าเมฆก้อนเติบโตขึ้นจนกลายเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฟ้าผ่า และฝนกระหน่ำ

หมวกเมฆเหนือเมฆก้อนใหญ่ที่อุดรธานี
ภาพถ่ายโดย พุทธิพร อินทรสงเคราะห์ สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ

หมวกเมฆส่วนใหญ่มีสีขาว ดูบางเบาโรแมนติก บ้างก็ลอยเป็นชั้นอยู่เหนือเมฆก้อน แต่ถ้าเมฆก้อนด้านล่างเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะค่อยๆ กลืนหมวกเมฆเข้าไปจนดูเชื่อมต่อเป็นก้อนเดียวกัน

หมวกเมฆแบบหลายชั้น ภาพโดย ซานดรา มาโลน (Sandra Malone)
ที่มาของรูป คลิก 

น่าสนใจว่า หมวกเมฆอาจเกิดซ้อนกันได้หลายชั้นด้วย อาจมีถึง 3 หรือ 4 ชั้นได้ ชมภาพได้ที่นี่ คลิก

เรื่องหมวกเมฆหลายชั้นนี้ ชวยให้คิดถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ก้านกล้วย ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพออกจากเมืองเพื่อไปรบกับพระมหาอุปราชา ในฉากนี้มีบทบรรยายกล่าวไว้ว่า

“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพกำลังพลหนึ่งแสนคนออกจากพระนคร เมื่อวันขึ้น 12 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ตรงกับพุทธศักราช 2135 ระหว่างนั้นเกิดศุภนิมิต หมู่เมฆปรากฏเป็นพระเศวตฉัตรขึ้นที่ทิศใต้ เวียนเป็นทักษิณาวัตรไปทางทิศเหนือ”

จากข้อมูลนี้ เป็นไปได้ไหมว่า เมฆเศวตฉัตรดังกล่าวอาจหมายถึง หมวกเมฆแบบหลายชั้นก็เป็นได้ อีกทั้งคำว่า เศวต ก็แปลว่า สีขาว ซึ่งสอดคล้องกับสีของหมวกเมฆ (ส่วนมาก) อีกด้วย

ฉากเมฆเศวตฉัตร ในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ก้านกล้วย
ผลิตโดย บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น สตูดิโอ จำกัด

หากเราโชคดี คือดวงอาทิตย์อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม หมวกเมฆอาจจะเกิดปรากฏการณ์สีรุ้งร่วมด้วย เรียกว่า หมวกเมฆสีรุ้ง (Iridescent Pileus)

ชมภาพหมวกเมฆสีรุ้งได้จากภาพแรกในบทความ อ่านเพิมเติม

หมวกเมฆอาจเกิดปรากฏการณ์สีรุ้งร่วมด้วยก็ได้
ภาพถ่ายโดย นพมณี สงวนพงศ์

อ่านบทความนี้จบแล้ว ลองแวบไปดูท้องฟ้า ถ้าเห็นเมฆก้อน ก็ลองสังเกตด้านบนดูดีๆ บางทีคุณอาจจะเห็นหมวกเมฆแสนสวยของคุณเองก็ได้นะครับ

ท้องฟ้ายังมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอื่นๆ อีกหลายอย่าง คุณผู้อ่านที่เจอปรากฏการณ์สนุกๆ อาจส่งมาให้ผม หรือแบ่งปันในกลุ่มชมรมคนรักมวลเมฆได้ที่ Facebook Cloudloverclub 

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook Matichon MIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image