Science Insight : เมฆฟ้าปรากฏการณ์ใน ‘วัสสานฤดู’ โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ   

ในที่สุดฤดูร้อนก็ผ่านพ้นไป และประเทศไทยก็เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ สำหรับปี 2565 นี้กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าเป็นวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 (ซึ่งตรงกับวันพืชมงคลพอดิบพอดี)

แต่คุณผู้อ่านหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผมถึงใช้ว่า ‘วัสสานฤดู’ ไม่ใช่ ‘วสันตฤดู’ ในชื่อบทความ

ผมใช้ถูกต้องแล้วครับ เพราะว่า ‘วัสสานฤดู’ มาจากคำว่า ‘วัสสานะ’ หมายถึง ฤดูฝน

ส่วนคำที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกว่าคือ วสันตฤดู มาจากคำว่า ‘วสันต์’ หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ

Advertisement

ใครสนใจประเด็นนี้ขอแนะนำบทความชื่อ ‘คำเรียกชื่อฤดูต่าง ๆ’ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาที่ (อ่านเพิ่มเติม)

เกณฑ์อย่างเป็นทางการของการเข้าสู่ฤดูฝนเป็นยังไง?  กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยใช้เกณฑ์หลัก ดังนี้ครับ

(1) ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องเกือบทั่วไป และ 

Advertisement

(2) ทิศทางลมตั้งแต่ระดับผิวพื้นถึงความสูง 3.5 กม. เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กม. ขึ้นไป เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก

และหากดูสถิติวันที่เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ย้อนหลังกว่า 10ปี จะเป็นดังนี้ครับ (ผมรวมปี 2565 นี้เข้าไปด้วยเพื่อให้เปรียบเทียบได้)

2565 : 13 พ.ค.
2564 : 15 พ.ค.
2563 : 18 พ.ค.
2562 : 20 พ.ค.
2561 : 26 พ.ค.
2560 : 16 พ.ค.
2559 : 18 พ.ค.
2558 : 22 พ.ค.
2557 : 27 พ.ค.
2556 : 18 พ.ค.
2555 : 5 พ.ค.
2554 : 6 พ.ค.

มีเรื่องน่ารู้ด้วยว่า จริงๆ แล้วถ้าใช้เกณฑ์ทางวิชาการแบบละเอียด จะพบว่าแต่ละภาคในประเทศไทยมีวันเริ่มต้น วันสิ้นสุด และระยะเวลา (ความยาวนาน) ของฤดูฝนแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ตัวอย่างเช่น 

ประเทศไทยในภาพรวม มีฤดูฝนเริ่มต้นในวันที่ 20 พฤษภาคม (±29 วัน) และสิ้นสุดในวันที่ 21 ตุลาคม (±20 วัน) 157 วัน(±37 วัน)

ในขณะที่ภาคที่มีฤดูฝนยาวนานที่สุดคือ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งมีฤดูฝนเริ่มต้นในวันที่ 1 พฤษภาคม (±21 วัน) และสิ้นสุดลงในวันที่ 22 พฤศจิกายน (±19 วัน) ระยะเวลานาน 206 วัน(±29 วัน)

ใครสนใจประเด็นนี้ สามารถอ่านได้จากเอกสารวิจัย ชื่อ

“วันเริ่มต้น วันสิ้นสุด ความยาวนาน และการผันแปรของฝน เพื่อเกษตรกรรมในประเทศไทย” โดยคุณจิราภรณ์ จุธากรณ์  โดย ดาวน์โหลดไฟล์ pdf 

ย้อนกลับมาที่ฤดูฝนปี 2565 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า

( 1 ) ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมากกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 3 แต่จะน้อยกว่าปีที่แล้ว (ปีที่แล้วในช่วงฤดูฝนปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าปกติร้อยละ 8 และปริมาณรวมทั้งปีมากกว่าค่าปกติร้อยละ 11) 

(2) ในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม) ปริมาณฝนรวมประเทศไทยตอนบนจะมากกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 แต่บริเวณภาคใต้ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 

(3) ช่วงครึ่งหลังฤดูฝน (เดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนตุลาคม) ปริมาณฝนรวมจะมากกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 3

สนใจรายละเอียด อ่านได้จากเอกสาร ‘การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ.2565

ออกประกาศวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2565 (อ่านเพิ่มเติม)

ทั้งนี้ อาจมีปรากฏการณ์ฝนฟ้าอากาศที่น่าสนใจ ที่สำคัญได้แก่

สภาวะฝนทิ้งช่วง

อาจเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้

ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่

โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน 

พายุหมุนเขตร้อน  

ช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด มีโอกาสสูงที่จะมี

พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่

และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่

คุณผู้อ่านที่สนใจสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย สามารดูข้อมูลภาพรวมและรายละเอียดบางอย่าง (อ่านเพิ่มเติม) 

ที่ว่าไปนั้น เป็นภาพรวมของฤดูฝน แต่หากคุณผู้อ่านชอบดูเมฆชมเฟ้า ฤดูนี้แหละครับที่เหมาะที่สุด เพราะว่าอาจเกิดปรากฏการณ์น่าตื่นตาตื่นใจได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้ผมจะขอยกตัวอย่างบางแบบ และให้ link ข้อมูลไว้ดังนี้ครับ

หมวกเมฆ & หมวกเมฆสีรุ้ง: เมฆบางๆ ที่อยู่เหนือเมฆก้อนขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่สีขาว บางครั้งมีสีรุ้ง (อ่านเพิ่มเติม)

อาร์คัส : ส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนอง อยู่ใกล้พื้น มีลักษณะเป็นแนวโค้งป่องออกในทิศทางที่เมฆฝนฟ้าคะนองเคลื่อนที่ไป (อ่านเพิ่มเติม)

แมมมา หรือเมฆเต้านม : ลักษณะเสริมอย่างหนึ่งของเมฆ มีลักษณะเป็นก้อนๆ ย้อยลงมาเมื่อมองจากพื้น (อ่านเพิ่มเติม)

รุ้งแบบต่างๆ : รุ้งต่ำ รุ้งสูง & รุ้งเต็มวง (อ่านเพิ่มเติม)

ร้งแบบต่างๆ : ซูเปอร์รุ้ง รุ้งเผือก & รุ้งแฝด (อ่านเพิ่มเติม)

รุ้งแฝดสอง (อ่านเพิ่มเติม)

การทรงกลดแบบแปลกๆ ที่ไม่ใช่วงกลม (อ่านเพิ่มเติม)

จริงๆ ยังมีตัวอย่างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากนะครับ คุณผู้อ่านท่านใดที่เจอปรากฏการณ์สนุกๆ อาจส่งมาให้ผม หรือแบ่งปันในกลุ่มชมรมคนรักมวลเมฆได้ที่ facebook : CloudLoverClub

ขอให้เรียนรู้สภาพฝนฟ้าอากาศใน ‘วัสสานฤดู’ กันอย่างสุขกายสบายใจครับ!

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image