Natural Science : Art meets Science: แม่โพสพ ชงชา ราเมือก และศิลปะบำบัด โดย ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

บ่ายแก่ๆวันเสาร์ ณ โรงอาหารที่พลุกพล่าน ผมนั่งสัมภาษณ์ศิลปินสี่คนจากสามประเทศ พยายามเข้าใจศิลปะจากมุมมองนักวิจัยสายวิทย์ งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปินพำนัก (artist-in-residence) สี่สัปดาห์ในหัวข้อ “BioArt” ที่เราได้สปอนเซอร์จากรัฐบาลสิงคโปร์ ออสเตรีย ไต้หวัน และไทย ได้มหาวิทยาลัยนเรศวรกับหน่วยงานในพิษณุโลกเป็นเจ้าบ้าน

ถ้าไม่นับงานวาดเขียนกับกีตาร์ที่เล่นได้แบบงูๆปลาๆ ผมอยู่ในวงการวิทย์-เทคโนฯมาตลอด เพิ่งร่วมงานกับศิลปินอาชีพช่วงไม่กี่เดือนมานี้ คำว่า “บูรณาการข้ามศาสตร์” ที่เราใช้กันเกร่อนั้นพูดง่ายกว่าทำ เพื่อนศิลปินท่านหนึ่งเปรียบว่าเหมือน “เอาอาหารหลายๆเมนูมาเทรวมๆกัน”  โอกาสที่จะกลมกล่อมนั้นยากมาก

ช่วงเตรียมงาน Bioart กับทีมศิลปิน เราได้ทยอยค้นพบจุดร่วมของงานฝั่งวิทย์-เทคโนฯ (science & tech) กับฝั่งศิลป์-ออกแบบ (art & design) หลายอย่าง แก่นหลักอันหนึ่งก็คือความพยายามของมนุษย์ที่จะ “รับรู้” และ “สร้าง” ประสบการณ์ใหม่ๆกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา

คนสายวิทย์-เทคโนฯอย่างผมมองโลกด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ เราสังเกตแบบแผน (pattern) ที่เกิดขึ้นซ้ำๆในธรรมชาติ การไหลของน้ำ การงอกของเมล็ด การผันเปลี่ยนฤดูกาล การเคลื่อนที่ของดาวบนฟ้า ฯลฯ เราเอาแบบแผนมาตั้งสมมติฐาน ทฤษฎี ทำการทดลอง ขุดลึกถึงกลไก (mechanism) เบื้องหลัง และสรุปเป็นกฎเกณฑ์ที่อธิบายหรือทำนายปรากฏการณ์พวกนั้น กระบวนการนี้ขยายขอบเขตการ “รับรู้ประสบการณ์” ของเราออกไปไกลกว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าปกติ เรารับรู้ว่าเกิดอะไรกับอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมไปจนถึงกาแล็กซี่ขนาดหลายแสนปีแสง รับรู้ว่าเกิดอะไรในอดีตไกลโพ้นที่จุดกำเนิดจักรวาลจนถึงวาระที่มันสิ้นสุดลง ความเข้าใจกฎธรรมชาติทำให้เราสามารถ “สร้างประสบการณ์” ใหม่ๆผ่านการควบคุมสิ่งรอบตัวแบบที่เราต้องการ ความเข้าใจกฎทางฟิสิกส์ การไหล การสันดาป แรงโน้มถ่วง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฯลฯ ทำให้เราสามารถสร้างเขื่อน รถยนต์ จรวจ ยานอวกาศ ฯลฯ ความเข้าใจกฎทางเคมีชีววิทยา โมเลกุล เซลล์ ยีน ฯลฯ ทำให้เราสามารถสร้างปุ๋ย ยา วัคซีน ฯลฯ

Advertisement

งานฝั่งศิลปะก็ว่าการ “สร้างและรับรู้” ประสบการณ์เช่นกัน ศิลปะในรูปถ่าย ภาพเขียน วรรณกรรม งานปั้น แฟชั่น ดนตรี ละคร น้ำหอม เครื่องสำอาง อาหาร ฯลฯ ก็คือการเอามวลสารและพลังงานที่มีอยู่เดิมในธรรมชาติ (หิน ไม้ กระดาษ เครื่องเทศ แสง เสียง ฯลฯ) มาจัดเรียงและนำเสนอในรูปแบบที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ประสบการณ์ที่ว่าอาจจะเป็นเรื่องความงาม ไพเราะ หอมหวล อร่อย ฯลฯ หรือเป็นโทนประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งกว่านั้นอย่างความตื่นเต้นระทึก ความกังวล ความปลื้มปิติ ความฮึกเหิม ความโหยหาอดีต ฯลฯ 

จากมุมวิทยาศาสตร์ทุกปรากฏการณ์ในจักรวาลนี้รวมทั้งประสบการณ์ทางอารมณ์ที่นำมาสู่การสร้างและเกิดขึ้นจากการเสพงานศิลป์ล้วนแต่มีเหตุผลเชิงกลไกเบื้องหลัง ส่วนผสมของสารเคมีบางตัวที่กระตุ้นต่อมรับในโพรงจมูกหรือปลายลิ้น ส่วนผสมของแสงและเสียงบางช่วงคลื่นที่ตกกระทบจอประสาทตาและหูชั้นใน ส่งสัญญาณเคมีและไฟฟ้าผ่านระบบในสมองไปทำอะไรบางอย่างกับเซลล์และโมเลกุลในนั้น จนเกิดเป็นอารมณ์ความรู้สึ 

ศิลปะอาจมีบทบาทเป็นเครื่องมือสร้างและรับรู้ประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ยังซับซ้อนเกินกว่าที่เครื่องมือทางวิทย์-เทคโนฯจะเข้าใจกลไกของมันได้…อย่างน้อยก็ในตอนนี้

Advertisement

ชูเฮาเป่ย (Chu Hao Pei) ศิลปินคนแรกที่ผมสัมภาษณ์เกิดและเติบโตที่สิงคโปร์ เดิมทำงานด้านสื่อสารสนเทศ แต่หันเหสู่วงการศิลปะด้วยความสนใจด้านความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อม มนุษย์ และจิตวิญญาณความเชื่อ แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมของสิงคโปร์ที่พวกเรามักจะยกย่องว่าเป็นเมืองที่ “ไฮเทค สะอาดและเป็นระเบียบ” มากที่สุดในโลก แต่ในความเพอร์เฟคที่ถูกคุมเข้มจากรัฐบาลนี้ศิลปินอย่างเฮาเป่ยรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไป ผลงานชิ้นแรกๆ ที่เฮาเป่ยให้ผมดูเป็นรูปถ่ายศาลเจ้าและเทวรูปตามต้นไม้ใหญ่และอาคารเก่าที่รัฐบาลกำลังจะเก็บทำลาย มีสายสัมพันธ์บางอย่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นที่ถูกตัดขาดเพื่อแลกกับความเรียบร้อยและประสิทธิภาพจากการบริหารแบบรวมศูนย์ บางทีงานศิลปะอาจจะมีบทบาทในการค้นพบและรักษาสายพันธ์แบบนี้ไว้ 

เฮาเป่ยเล่าต่อถึงเรื่องพิธีกรรมบวชต้นไม้ในไทย โยงไปถึงการบวชอาคารเก่าที่เขาเคยวางแผนทำในกัมพูชา และงานศิลปะจากประเพณีการปลูกข้าวในอินโดนิเซียที่ตอนหลังนำมาสู่ความสนใจเชิงลึกของเขาเกี่ยวกับมิติต่างๆในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับข้าว รัฐบาลกลางสนับสนุนการทำนาแปลงใหญ่ อุปกรณ์เกี่ยวข้าวสมัยใหม่ และเมล็ดพันธุ์มาตรฐานที่มีกฎหมายคุ้มครองเข้มงวด ถ้าเรามองจากมุมวิทย์-เทคโนฯล้วนๆ นี่คือทางเลือกดีที่สุดแล้วในการเพิ่มผลผลิต แต่จากมุมศิลปินที่มองถึงมิติของมนุษย์ศาสตร์ วัฒนธรรมและความเชื่อ ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังลบรากเหง้าความทรงจำร่วมของท้องถิ่นบางอย่างออกไป ชาวบ้านอินโดคนหนึ่งในซูลาเวซีเคยพูดติดตลกว่าชาวนาเลิกสักการเทวีศรี (Dewi Sri) พระแม่แห่งท้องนากันแล้ว เพราะนางคงจำเมล็ดข้าวพันธุ์ผสมที่เราหว่านลงไปไม่ได้ ในมุมของเฮาเป่ยสิ่งที่เสียไปไม่ใช่แค่เรื่องประเพณีการปลูกแต่ยังรวมถึงความหลากหลายของสายพันธุ์ กลิ่นและรสชาติของข้าวแต่ละพันธุ์ที่สูญหายไประหว่างปรับปรุงพันธุ์ งานของเฮาเป่ยจึงรวมไปถึงการจำลองประสบการณ์การรับรู้กลิ่นและรสชาติของข้าวที่ดึงความทรงจำเก่าๆ กลับมา ศิลปะแบบของเฮาเป่ยจึงอาจจะเป็นเครื่องมืออนุรักษ์สิ่งที่อาจจะตกหล่นในกระแสความเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาเทคโนโลยี  

Haopei – Beneath the Bodhi _ Banyan, Sa Sa Art Projects (2019) Photos credit_ Sa Sa Art Projects _ Lee Chang Ming Mbok Sri Mulih. Installation View at Cemeti Institute for Art _ Society, Yogyakarta, Indonesia.

Chu Hao Pei Presentation at Singapore Art Museum Exhibition Present Realms. Image courtesy of Chu Hao Pei

ฮันนา ไซโต้ (Hanna Saito) ศิลปินคนที่สองของเราเป็นลูกครึ่งสวิส-ญี่ปุ่น เป็นคนที่ดูเป็นฝรั่งที่สุดในทีมตอนนี้แต่พูดญี่ปุ่นเป็นภาษาหลัก ฮันนาเรียนจบป.ตรีด้านประติมากรรมเครื่องแก้วแต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากงานฝั่งชีววิทยามาตั้งแต่เริ่ม ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากนิสัยเก็บสะสมสเก็ตช์ภาพต้นไม้ใบหญ้าตั้งแต่เด็กๆ อีกส่วนหนึ่งมาจากคลาส Bioart สมัยเรียนที่สอนโดยอาจารย์อากิฮิโระ คุโบตะ (Akihiro Kubota) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งวงการ Bioart ของญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปี 2007 บุกเบิกการใช้สิ่งมีชีวิตและเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือสร้างงานศิลปะ

ฮันนาเล่าว่าวงการศิลปะของญี่ปุ่นค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ตอนที่ Bioart เริ่มต้นใหม่ๆ ศิลปินดั้งเดิมยังไม่ค่อยยอมรับ ฝั่งนักวิทย์เองก็ยังไม่เข้าใจว่าจะทำไปทำไม ยังดีที่ได้ฮิเดโกะ ไอวาซากิ (Hideo Iwasaki) อาจารย์นักวิจัยด้านสาหร่ายเขียวแกมน้ำเงิน (cyanobacteria) จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) ผลักดันมาตลอดสิบกว่าปีผ่านเครือข่ายศิลปิน/นักวิจัยภายใต้ชื่อ “Metaphorest”  ฮันนาทำงานร่วมกับกลุ่มนี้อยู่หลายปี หลายชิ้นก็เป็นเทคนิคผสมผสานระหว่างประติมากรรมแก้วกับสิ่งมีชีวิต งานเก่าจากเมื่อเกือบสิบปีก่อนชิ้นนึงที่ให้ผมดูเป็นท่อแก้วบรรจุสาหร่ายเขียวแกมน้ำเงินที่ค่อยๆ เปลี่ยนสีไปตามระยะการเจริญ ฮันนาตั้งชื่องานนี้ว่า “Blue-blue green is green” สะท้อนเกี่ยวกับการรับรู้และตีความหมายของสี คำเดียวกันแทนสีที่ต่างกันจากต่างคนมอง และต่างภาษาที่ใช้ งานแนวการใช้สี/การรับรู้/ตีความถูกเอามาต่อยอดในงานชุดหลังๆของฮันนาผ่านเครื่องมือใหม่เป็นจุลินทรีย์กลุ่มราเมือก (slime mold)

ฮันนาทำงานราเมือกเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่กลุ่มวิจัย Xlab มหาวิทยาลัยโตเกียวเน้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (HCI – human computer interface) ราเมือกเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มโปรติสต์รูปร่างเป็นก้อนๆ เหนียวๆ เหมือนตัวอะมีบาแต่ขนาดใหญ่พอที่จะมองตาเปล่าเห็น พบได้ในที่ชื้นและมืดที่มีสารอินทรีย์ทับถมอย่างบนขอนไม้ ใบไม้ พื้นดิน ราเมือกไร้สมองไร้ระบบประสาทแต่ก็สามารถรับรู้ ประมวลผล และเคลื่อนไหวเปลี่ยนรูปร่างเพื่อตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างชาญฉลาด ฮันนาเก็บตัวอย่างและศึกษาพฤติกรรมของราเมือกในการแก้โจทย์ปัญหาแบบต่างๆ (หัวข้อวิจัยป.โท: The ‘intelligence’ that emerges from human interaction with true slime molds) งานวิจัย/ศิลปะของฮันนาเน้นคอนเซปต์ของการตื่นรู้ (consciousness) ของสิ่งมีชีวิตที่นอกเหนือไปจากมนุษย์ ความเข้าใจการรับรู้ตัดสินและตื่นรู้ของสิ่งมีชีวิตที่เรียบง่ายสุดๆอย่างราเมือกอาจจะทำให้เราเปลี่ยนมุมมองของเราในฐานะส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ 

Hanna – Non-Retina Kinematograph 2021-2022ver, Eaten Colors 01 – 2020, Eaten Colors on shoes 2021

ทิฟฟานี เลย์ (Tiffany Lay) ชาวไต้หวันเกิดและเรียนจบมหาวิทยาลัยในอเมริกาด้านปรัชญา เริ่มเข้าสู่วงการศิลปะผ่านการเป็นคนจัดงานและนักวิจารณ์ ส่วนงานตัวเองทิฟฟานี่เลือกเรียนเทคนิคประติมากรรมกระดาษ ทิฟฟานีอธิบายว่า “กระดาษเป็นวัสดุมหัศจรรย์ เปราะบางพอให้เราฉีกมันขาด แต่ก็แหลมคมพอจะบาดมือเราได้”  ความสนใจกระดาษทำให้ทิฟฟานี่ได้ออกเดินทางไปเก็บต้นไม้ใบหญ้าหาเส้นใยมาลองแปรรูปเป็นกระดาษคุณสมบัติต่างๆ กัน  โจ หลิน (Zo Lin) แฟนของทิฟฟานีเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ผู้ตัดสินใจโบกมือลางานหน้าคอมพิวเตอร์ ไปปั่นจักรยานหาความหมายชีวิตรอบเกาะไต้หวัน โจรับจ้างชาวบ้านถอนหญ้ากำจัดวัชพืชหารายได้ระหว่างเดินทางไปเรื่อยจนวันนึงปิ๊งไอเดียว่าวัชพืชพวกนี้น่าจะเอาไปทำอะไรซักอย่างได้ เมื่อศึกษาลึกลงไปก็เจอว่าตำรับอาหารและยาพื้นบ้านของไต้หวันมีพูดถึงวัชพืชพวกนี้อยู่ พอมาเจอทิฟฟานี้ที่มีความรู้เรื่องต้นไม้ใบหญ้าเช่นกันก็เลยรวมทีมกันเป็นกลุ่ม “Weed Day” นำศิลปะการชงชามาผสานกับความรู้เรื่องวัชพืช

Weed Day เชื่อว่าวัชพืชสามารถเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับผืนดินที่พวกเราอยู่อาศัย วัชพืชขึ้นได้ทุกพื้นที่แม้แต่ท้องถิ่นกันดารแห้งแล้งหรือร่องปูนแคบๆ ในเมืองใหญ่ ส่วนศิลปะการชงชาก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวไต้หวันมาช้านาน ทิฟฟานี่เล่าว่าบ้านสมัยก่อนมีหม้อชาที่ปรุงจากวัชพืชท้องถิ่นไว้รับแขกที่เดินทางผ่านมา แต่เดี๋ยวนี้องค์ความรู้พวกนี้เลือนหายไปเสียเยอะ แถมต้นไม้ใบหญ้าริมทางก็เสี่ยงปนเปื้อนสารเคมี งานของ Weed Day มีทั้งการค้นคว้าตำรับชาพื้นบ้าน พัฒนาสูตร จัดกิจกรรม ถ่ายทอดกรรมวิธีคัดเลือกและชงชาที่ผสมจากพืชที่หลากหลายในท้องที่นั้นๆ ทิฟฟานี่อธิบายว่าจริงๆแล้วขอบเขตการทำงานของ Weed Day ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชาแต่รวมไปถึงการเอาความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์สูงสุด ผ่านประสบการณ์ศิลปะของกลิ่นและรสสัมผัสที่จะทำให้คนทั่วไปเห็นคุณค่าและอยากรักษาความหลากหลายเหล่านี้เอาไว้

Weedday – WeedDay Urban Ecological Experiment, Taipei Biennial 2018,
Sleep79 Re-Base: When Experiments Become Attitude

ดิน ชาน (Din Chan) ศิลปินคนสุดท้ายชาวสิงคโปร์ที่ผมสัมภาษณ์วันนั้นจบมาด้วยสองปริญญาด้านวิจิตรศิลป์และด้านศิลปบำบัด เน้นการใช้อิเลคทรอนิคและซอฟแวร์เป็นสื่อนำเสนองานศิลปะ ดินออกตัวว่าตั้งแต่เด็กมาเขาเป็นคนพูดน้อย เล่าเรื่องไม่เก่ง เลยหันมาใช้ศิลปะเป็นตัวกลางนำเสนอสิ่งที่เขาคิดและรู้สึกออกไป ส่วนที่เลือกใช้อิเลคทรอนิคและซอฟแวร์เป็นเครื่องมือหลักก็เพราะต้นทุนค่อนข้างถูก ถอดประกอบกลับมาใช้ใหม่ได้ และมอบประสบการณ์ได้หลากหลายโดยเฉพาะความสามารถในการตอบโต้กับผู้ชมได้แบบเรียล์ไทม์

ดินให้ผมดูตัวอย่างงานแปลกๆ หลายชิ้น ห้องระบายสีด้วยแสง ดินสอที่เปลี่ยนเส้นวาดเป็นเสียง เต็นท์จำลองบรรยากาศในท้องพญานาค ฯลฯ แต่ชิ้นที่สะดุดตาผมเป็นพิเศษคือชิ้นหลังๆ ที่ดินเล่าว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปบำบัด ดินทำงานร่วมกับโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเยาวชนใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือรักษาเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาทางจิตใจ ตั้งแต่โรคสมาธิสั้น ซึมเศร้า ออทิสติก ฯลฯ แม้ว่างานส่วนนี้หลักๆ แล้วจะจำกัดอยู่แค่วาดรูป เล่าเรื่อง และตีความ แต่ก็ให้วัตถุดิบสำคัญสำหรับงานอื่นๆในฝั่งอิเลคทรอนิคซอฟแวร์ ผลงานอย่าง “Shower of Thoughts” ว่าด้วยการเปิดเผยความอ่อนแอในจิตใจออกมาระหว่างการอาบน้ำ “Eye Tracker Paints” เครื่องวาดรูปด้วยการกรอกตาสำหรับผู้พิการที่เคลื่อนไหวไม่ได้ “Prayer” งานล่าสุดอีกชิ้นเป็นก้อนเมฆเรืองแสงจำลองที่ตอบสนองต่อการสัมผัสที่แผ่วเบา ดินบอกว่าหลังจากมาทำงานด้านศิลปบำบัดสักระยะสไตล์งานของเขาก็เปลี่ยนไปแนวเบาๆ สบายๆ ผ่อนคลายมากกว่าแนวฉูดฉาดอึกทึกพิสดารแบบงานเทคโนอาร์ตที่เรามักจะเห็นกัน ดินสนใจเป็นพิเศษว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในสมองของมนุษย์เราระหว่างการสร้างและเสพงานศิลปะ

Din Chan, Prayer, interactive installation, 2022

หลังจบสามชั่วโมงกว่าของการสัมภาษณ์ พวกเรานั่งวิเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้ วางแผนกันอีกพักใหญ่สำหรับระยะเวลาอีกเกือบหนึ่งเดือนข้างหน้าที่เราจะอยู่ด้วยกัน รวมทั้งเวิร์กช็อบ Bioart ที่จะช่วยกันจัดตอนปลายเดือน ทำยังไงให้งานบูรณาการวิทย์ศิลป์ออกมากลมกล่อม ไม่ใช่แค่การ “เอาอาหารหลายๆ เมนูมาเทรวมๆ กัน” 

งานของทั้งสี่ศิลปินที่ดูเผินๆ เหมือนจะไปคนละทิศละทางมีแก่นร่วมบางอย่างที่อาจจะช่วยปิดจุดอ่อนและเปิดมุมมองที่ตกหล่นไปจากคนทำงานสายวิทย์-เทคโนฯแบบเพียวๆ เฮาเพ่ยใช้ศิลปะเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรม และความเชื่อที่ลบเลือนไปจากผลของเทคโนโลยี ฮันนาใช้ศิลปะเผยมิติของการตื่นรู้แบบที่มนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลาง Weed Day ใช้ศิลปะเชื่อมต่อมนุษย์กลับไปสู่สิ่งแวดล้อม ส่วนดินเอาศิลปะบวกกับเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำรวจถึงสภาวะทางจิตใจมนุษย์ที่เข้าถึงได้ยาก

ในทางกลับกันงานของทั้งสี่ศิลปินทั้งข้าว ราเมือก วัชพืชและศิลป์บำบัดสามารถถูกมองผ่านเลนส์ของกลไกทางชีวโมเลกุล พันธุศาสตร์ สรีวิทยา วิวัฒนาการ ฯลฯ และต่อยอด เพิ่มสมรรถนะด้วยเครื่องมือทางเทคโนโลยีชีวภาพ และศาสตร์วิศวกรรม/วิทย์ประยุกต์แขนงอื่นๆ ที่ทีมจัดงานกำลังช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิจัยสายวิทย์-เทคโนฯฝั่งนี้  ไม่ว่าจะงานวิทย์หรือศิลป์ หรือวิทย์บวกศิลป์มันก็ออกมาน่าสนใจและใช้ประโยชน์ได้ทั้งนั้นแหละถ้าเราลึกซึ้งกับการศึกษา และชัดเจนกับการสื่อสารมันออกมามากพอ

———————————————-
โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC
———————————————-
เอกสารอ้างอิง คลิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image