Science Insights : 7 แง่มุมน่ารู้เกี่ยวกับ ‘อสนีบาต’ โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

ในช่วงฤดูฝน ฟ้าร้องฟ้าผ่าเกิดได้บ่อยครั้ง และเมื่อเดือนก่อนนี้เอง คุณทิพมาศ บวรโกศล สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ สามารถเก็บภาพสายฟ้าอันน่าตื่นตาตื่นใจได้ที่จันทบุรี และภาพ “สายฟ้าแห่งจันทบูร” นี้ก็ได้รับยอด Like ไปสูงถึง 37,972 ครั้ง และมียอดแชร์อีก 1,377 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565)

ใครสนใจเข้าไปคอมเมนต์ภาพนี้ ตาม link ไปได้เลยครับ คลิก

เมื่อได้ชมภาพอันน่าทึ่งไปแล้ว ก็น่าจะได้เรียนรู้แง่มุมพื้นฐานเกี่ยวกับสายฟ้ากันสักหน่อย ผมเลือกมา 7 แง่มุมที่น่ารู้ในรูปแบบถาม-ตอบ ดังนี้ครับ

หนึ่ง – สายฟ้าเร็วแค่ไหน?

Advertisement

ตอบ: เว็บของ Met Office [1] ให้ข้อมูลว่าสายฟ้าเคลื่อนที่ได้เร็วถึง 270,000 ไมล์ต่อชั่วโมง ถ้าคิดเป็นหน่วยที่เราคนไทยคุ้นเคยกว่าก็ราว 424,523 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 121 กิโลเมตรต่อวินาที

หมายความว่า แม้เมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร สายฟ้าที่ออกจากยอดเมฆทางด้านข้าง แล้วเลี้ยววกลงมาที่พื้นด้านล่างจะใช้เวลาราว 0.2 วินาที เท่านั้น!

สอง – กระแสไฟฟ้าในสายฟ้ามีมากน้อยแค่ไหน?

Advertisement

ตอบ: ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า กระแสไฟฟ้าในสายฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 5,000-20,000 แอมแปร์ แต่ค่าที่สูงกว่านี้ก็เคยพบ เช่น เมื่อครั้งส่งจรวดอะพอลโล 15 ก็เกิดสายฟ้าที่มีกระแสสูงถึง 100,000 แอมแปร์ เป็นต้น [2]

ข้อมูลวิชาการระบุว่า กระแสไฟฟ้าเพียงแค่ 0.1 แอมแปร์ หากไหลผ่านร่างกายคนเรา ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้แล้ว [3]

สาม – สายฟ้า “หนา” แค่ไหน?

ตอบ: แม้ว่าสายฟ้าจะดูเหมือนเป็นเส้นหนา แต่บริเวณที่ประจุไฟฟ้าไหลผ่านมีความกว้างเพียง 2-3 เซนติเมตรเท่านั้น [1]

สี่ – อุณหภูมิในสายฟ้าสูงแค่ไหน?

ตอบ: แม้สายฟ้าจะหนาเพียงแค่ 2-3 เซนติเมตร แต่ปริมาณประจุไฟฟ้าที่ไหลผ่านมีมหาศาล ดังนั้น อุณหูภูมิภายในสายฟ้าจึงสูงอย่างเหลือเชื่อ คืออาจสูงถึงราว 30,000 องศาเซลเซียส [1] อุณหภูมิระดับนี้ร้อนกว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์กว่า 5 เท่า เนื่องจากอุณหภูมิพื้นผิวของดวงอาทิตย์มีค่าเฉลี่ยคือ 5,778 เคลวิน หรือราว 5,505 องศาเซลเซียส 

.

ห้า – สายฟ้ามีลักษณะคล้ายกิ่งไม้ (จับคว่ำลง) คือแตกแขนงแยกออกไป แต่ละกิ่งยาวประมาณเท่าไร?

ตอบ: ความยาวของแต่ละ “กิ่ง” ของสายฟ้าอยู่ในช่วง 10-100 เมตร แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 30 เมตร [5]

หก – สายฟ้าสามารถออกไปทางด้านข้างได้ไกลมากแค่ไหน?

ตอบ: สถิติโลกที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Origanization) หรือ WMO เท่าที่ผมค้นได้ตอนนี้คือ 477 ไมล์ หรือราว 768 กิโลเมตร! [6]

สายฟ้าเส้นนี้ถูกตรวจจับได้โดยดาวเทียมของ NOAA เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2020 และต่อมาได้รับการรับรองโดย WMO ว่าเป็นสายฟ้าที่ยาวที่สุดในโลก สายฟ้าเส้นนี้เริ่มจากบริเวณชายฝั่งตอนกลางของรัฐเทกซัสแล้วไปจบลงที่ทางตอนใต้ของรัฐมิสซิสซิปปี

เจ็ด – หากเห็นฟ้าแลบ แล้วสักพักมีเสียงฟ้าร้องตามมา จะบอกได้คร่าวๆ อย่างไรว่าฟ้าแลบนั้นอยู่ห่างจากเราแค่ไหน?

ตอบ: เนื่องจากแสงเดินทางเร็วกว่างเสียง และเสียงในอากาศเดินทางเร็วประมาณ 346.3 เมตรต่อวินาที (หากอากาศมีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส) ดังนั้นจึงประมาณได้คร่าวๆ ว่าเสียงเดินทางราว 1 กิโลเมตรทุกๆ 3 วินาทีโดยประมาณ

ดังนั้น อาจจำเป็นสูตรง่ายๆ ว่า หากได้เห็นฟ้าแลบแปร๊บๆ ให้จับเวลาว่าได้ยินเสียงฟ้าร้องในกี่วินาที จากนั้นหารด้วย 3 จะได้เป็นระยะทางในหน่วยกิโลเมตรโดยประมาณ เช่น ได้ยินเสียงฟ้าร้องหลักจากเห็นสายฟ้าหรือฟ้าแลบในเมฆราว 12 วินาที ก็แสดงว่าจุดที่เกิดฟ้าแลบอยู่ห่างราว 12 หารด้วย 3 เท่ากับ 4 กิโลเมตร

ระยะ 4 กิโลเมตรนี่ อันตรายนะครับ เพราะสายฟ้าสามารถออกมาจากด้านข้างของเมฆได้หลายสิบกิโลเมตร แล้ววกลงฟาดสิ่งต่างๆ บนพื้นได้

ในทางปฏิบัติ อาจนับเวลาเป็นวินาทีแบบนี้นะครับ คือพูดว่า “1 ประเทศไทย, 2 ประเทศไทย, 3 ประเทศไทย …..” คือ พอเติมคำว่าประเทศไทยเข้าไปในคำพูดจะทำให้เวลาออกมาประมาณ 1 วินาที เป็นเคล็ดวิชาง่ายๆ ลองใช้ดูครับ

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจเรื่องฟ้าผ่า ขอแนะนำบทความที่ผมเคยเขียนไว้ดังนี้
.
ฟ้าผ่าทำร้ายเราได้ทางใดบ้าง? อ่านเพิ่มเติมคลิก 

 กฎ 30/30 & คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจาก ฟ้าผ่า  อ่านเพิ่มเติมคลิก 

อ่านบทความนี้จบแล้ว คิดว่าหลายท่านคงได้เห็นว่าธรรมชาติช่างมีรายละเอียดน่าพิศวง หมั่นมองท้องฟ้าบ่อยๆ ครับ และถ้าเจอปรากฏการณ์ที่สงสัย อาจส่งมาถามให้ผม หรืออาจนำภาพถ่ายท้องฟ้าที่คุณผู้อ่านเจอไปแบ่งปันในกลุ่มชมรมคนรักมวลเมฆได้ที่นี่ครับ Facebook CloudLoverClub

www.facebook.com/groups/CloudLoverClub 

พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้าครับ! 

———————————————-

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC

———————————————-

อ้างอิงคลิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image