Natural Science : สำเภาของธีเซียส จีเอ็มโอ และธรรมชาติที่แท้ โดย : ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

“ปฏิทรรศน์ธีเซียส (Theseus’ Paradox)” ว่าด้วยตำนานกรีกเรื่องเรือสำเภาของธีเซียสที่ถูกซ่อมแซมบูรณะด้วยการเปลี่ยนเอาไม้เก่าออกแล้วแทนที่ด้วยไม้ใหม่ทั้งหมด คำถามคือเรือลำนั้นจะยังเป็นลำเดิมอยู่หรือไม่?

ใบมะเขือเทศเหี่ยวๆในซองพลาสติกตรงหน้าผมเป็นผลงานของซานาเทคซีด (Sanatech Seed) บริษัทไบโอเทคสัญชาติญี่ปุ่น ชิ้นส่วนเล็กๆบนจีโนมของมะเขือเทศนี้ถูกตัดทิ้งไปด้วยเทคโนโลยีปรับแก้ยีน (gene editing) ทำให้มันสะสมกรดอะมิโนบำรุงสมองที่ชื่อว่า “กาบ้า (GABA)” สูงกว่ามะเขือเทศทั่วไปถึงห้าเท่า หลายประเทศโดยเฉพาะในโซนยุโรปถือว่าพืชที่ถูกปรับแต่งพันธุกรรมโดยมนุษย์แบบนี้เป็น “จีเอ็มโอ” (GMO, Genetically Modified Organism) และต้องถูกควบคุมตรวจสอบเข้มงวดถ้าจะปลูกในพื้นที่เปิดโล่ง 

ในทางกลับกัน บางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นยกเว้นให้ว่าพืชที่ถูกปรับแก้พันธุกรรมนิดๆหน่อยๆโดยไม่ใส่ดีเอ็นเอแปลกปลอมเข้ามา (แค่ตัดจีโนมเดิมบ้างส่วนทิ้งเฉยๆ อย่าง “มะเขือเทศกาบา” นี้) ไม่จัดเป็นจีเอ็มโอ ใครๆก็เอาไปปลูกในไร่หรือสวนครัวหลังบ้านได้เลย เพราะการกลายพันธุ์แบบสุ่มเล็กๆน้อยๆระดับนี้เกิดเรื่อยๆอยู่แล้วตามธรรมชาติ แค่คราวนี้เราจงใจทำให้มันกลายตรงตำแหน่งที่ต้องการพอดี

Advertisement

ต้นมะเขือเทศเสริมกาบา (GABA) ด้วยการปรับแก้ยีนโดยบริษัท Sanatech Seed

จอร์จ ทริมเมล (Georg Tremmel) ศิลปินชาวออสเตรียหนึ่งในสมาชิกโครงการศิลปินพำนัก (artists in residency) อ่านเพิ่มเติม ของเราเดือนนี้ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรใช้งานศิลปะตั้งคำถามเกี่ยวกับเส้นแบ่งจางๆระหว่างความเป็นธรรมชาติกับความผิดธรรมชาติในบริบทของพันธุวิศวกรรม

จอร์จเกิดและเติบโตในเมืองเล็กๆทางตะวันออกของประเทศออสเตรีย เรียนมาทางสื่อศิลปะและสารสนเทศที่มหาวิทยาลัยศิลปะประยุกต์เวียนนา (University for Applied Art, Vienna) และที่ราชวิทยาลัยศิลปะลอนดอน (Royal College of Art, London) สตูดิโอ “Dunne and Raby” ที่จอร์จฝากตัวเป็นศิษย์เน้นประยุกต์ใช้การออกแบบเป็นสื่อกระตุ้นการถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสังคม วัฒนธรรมและกรอบศีลธรรม

Advertisement

โครงการถอดรหัสจีโนมมนุษย์ (Human Genome Project) ที่เพิ่งเสร็จสิ้นในปี 2003 สร้างแรงกระเพื่อมในหลายวงการแม้แต่ในวงการศิลปะในช่วงเวลานั้น แรงบันดาลใจจากโครงการนี้ทำให้จอร์จและชิโฮ ฟุกุฮาระ (Shiho Fukuhara) ศิลปินญี่ปุ่นที่ราชวิทยาลัยศิลปะลอนดอนร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม BCL ที่โฟกัสด้านงานมีเดียอาร์ต (Media Art) ผสมผสานกับงานด้านชีววิทยา 

Biopresence หนึ่งในผลงานแรกๆของ BCL ว่าด้วยการเก็บดีเอ็นเอจากจีโนมของผู้ล่วงลับไว้ในจีโนมของต้นไม้ใหญ่ ทีม BCL ร่วมกับโจ เดวิส (Joe Davis) ศิลปินอเมริกันผู้บุกเบิกเทคนิคบันทึกข้อมูลลงดีเอ็นเอ  พัฒนาอัลกอริทึม DNA manifold ที่ทำให้เราสามารถเอาข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ฝังเข้าไปในจีโนมพืชโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงการทำงานของยีนใดๆของพืชที่มีอยู่เดิม โครงการ Biopresence ได้รางวัลผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต (product of the future) จากราชวิทยาลัยศิลปะและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ลอนดอน และทีม BCL ยังทุนตั้งต้นจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร (NESTA)  ให้ไปตั้งบริษัทสตาร์อัพจากงานนี้ภายใต้ชื่อ Biopresence Ltd. 

Biopresence สุสานดีเอ็นเอผู้ล่วงลับในจีโนมต้นไม้ ที่มาคลิก 

แม้ว่า Biopresence นี้จะได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทั้งคนวงการศิลปะ ชีววิทยา และประชาชนทั่วไป แต่สุดท้ายก็ถูกเบรกไว้ถาวรเนื่องจากความกังวลเรื่องสร้างพืชจีเอ็มโอ อุปสรรคครั้งนั้นทำให้จอร์จคิดได้ว่าถ้าอยากทำงานแนวๆนี้ต่อเขาจะต้องรู้เรื่องไบโอเทคโดยเฉพาะพันธุวิศวกรรมให้ลึกซึ้งกว่านี้ ต้องมีทักษะมีเครื่องมือพอจะลงมือทำงานได้เอง และก็ยังต้องสามารถใช้ศิลปะตั้งคำถามและท้าทายกรอบจำกัดต่างๆที่มีอยู่ในวงการนี้

Common flower / Flower common ผลงานอีกชิ้นของกลุ่ม BCL เล่นกับ “moondust” ดอกคาร์เนชั่นปรับแต่งพันธุกรรมสีน้ำเงินของ Florigen บริษัทไบโอเทคสัญชาติออสเตรเลียร่วมกับ Suntory บริษัทสุราญี่ปุ่น งานตัดต่อพันธุกรรมยีนสังเคราะห์สีน้ำเงินลงดอกคาร์เนชั่นสำเร็จตั้งแต่กลางยุค 1990s และได้รับอนุญาติให้ปลูกขายในหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่น ถือว่าเป็นพืชจีเอ็มโอตัวแรกในท้องตลาดที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อความสวยงามไม่ใช่เพื่อการบริโภค อย่างไรก็ตามทางบริษัทเลือกที่จะผลิต moodust แต่ในประเทศโคลอมเบียและตัดเฉพาะส่วนดอกส่งขายไปทั่วโลก ผลงาน Common flower / Flower common  ของ BCL ใช้เทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ “โคลน” เซลล์จากดอกคาร์เนชั่นตัดขายกลับมาเป็นต้นใหม่ด้วยอุปกรณ์และสารเคมีพื้นๆที่หาได้ในครัวเรือนทั่วไป ต้นคาร์เนชั่นโคลนนิ่งจากดอกจีเอ็มโอสีน้ำเงินนี้ถูกจัดแสดงในงานศิลปะและปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมให้กลับกลายเป็นดอกไม้ป่าในธรรมชาติ

Common flower / White out ว่าด้วยความพยายามเปลี่ยน moondust ให้กลับเป็นคาร์เนชั่นสีขาวอีกครั้งด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรม BCL ใช้งานชิ้นนี้ตั้งคำถามถึงความเป็นได้ในการใช้พันธุวิศวกรรมเป็นเครื่องมือหวนคืนสู่ธรรมชาติที่แท้ พืชที่ถูกใส่ยีนแปลกปลอมเข้ามาและกำจัดยีนนั้นออกภายหลังควรถือว่าเป็น “พืชธรรมชาติ” หรือ “พืชจีเอ็มโอ”? การสูญเสียความเป็นธรรมชาติที่แท้โดยน้ำมือมนุษย์สามารถกู้กลับคืนมาโดยมนุษย์ได้หรือไม่? เราควรตีความเรื่องนี้อย่างไรในทางปรัชญาและทางกฎหมาย? BCL เน้นการใช้อุปกรณ์และสารเคมีพื้นๆที่คนส่วนมากเข้าถึงได้แม้ไม่ใช่นักพันธุวิศวกรรมมืออาชีพ นั่นแปลว่าในที่สุดแล้วเส้นแบ่งระหว่างความเป็นธรรมชาติแท้กับจีเอ็มโออาจจะบางลงจนใครๆก็สามารถเดินข้ามไปมาเมื่อไหร่ก็ได้

จอร์จกับดอกคาร์เนชั่นปรับแก้พันธุกรรมน้ำเงินในผลงาน Common Flower

ช่วงปี 2005 จอร์จไปเป็นศิลปินพำนักที่ญี่ปุ่นด้วยทุนจากรัฐบาลออสเตรีย ได้พบและทำงานร่วมกับกลุ่มวิจัยของฮิเดโกะ ไอวาซากิ (Hideo Iwasaki) อาจารย์นักวิจัยด้านสาหร่ายเขียวแกมน้ำเงินจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) และผู้บุกเบิกวงการ Bioart ของญี่ปุ่นภายใต้เครือข่าย Metaphorest ส่วนจอร์จเองก็ได้งานประจำอีกตำแหน่งเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลอยู่ที่หน่วยวิเคราะห์ข้อมูลดีเอ็นเอที่สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) เลยได้ตั้งรกรากอยู่ญี่ปุ่นยาวมาสิบกว่าปีจนถึงปัจจุบัน

งานหลายชิ้นของจอร์จและกลุ่ม BCL ได้รับอิทธิพลผสมผสานจากทั้งไบโอเทคและวัฒนธรรมญี่ปุ่น Snow White ver. Horyuan ใช้ “ทาทามิ” เสื่อฟางญี่ปุ่นจากหญ้าที่เติบโตจากเซลล์เพาะเลี้ยง ว่าด้วยการดูดซับและกลายสภาพสู่ความเป็นมนุษย์ For the sake of it ทำสาเกมนุษย์จากเอนไซม์ จุลินทรีย์ และเซลล์ในน้ำลายศิลปิน Resist/Refuse เอาไหดินเผาญี่ปุ่นแบบที่เคยใช้บรรจุต้นแบบอาวุธชีวภาพสมัยสงครามโลกมาใช้เป็นภาชนะ ค้นหาและบรรจุเชื้อผลิตสารปฏิชีวนะเป็นสัญลักษณ์การใช้ไบโอเทคย้อนคืนความเสียหายที่วงการไบโอเทคเคยทำไว้ Ghost in the cells  สร้าง “หัวใจ” ให้อนิเมะไอดอลจากดีเอ็นเอสังเคราะห์และสเต็มเซลล์

Ghost in the cells  สร้าง “หัวใจ” ให้อนิเมะไอดอลจากดีเอ็นเอสังเคราะห์และสเต็มเซลล์

จอร์จร่วมก่อตั้ง Bioclub อ่านเพิ่มเติม ที่ชิบุยะ ห้องแล็บสาธารณะและเมกเกอร์สเปซแห่งแรกของโตเกียวนี้เป็นที่รวมตัวเฉพาะกิจของทั้งศิลปิน และชีววิทยามือสมัครเล่นที่เรียกตัวเองกว่า DIY (Do-It-Yourself) biology มีทั้งจัดเวิร์กช็อบสอนเทคนิคพื้นฐานด้านไบโอเทค ประกอบอุปกรณ์แล็บ หมักเหล้า ทำกับข้าว สร้างงานศิลปะ ฯลฯ บวกกับการเสวนาจากนักวิจัยและศิลปิน สำหรับจอร์จ Bioclub เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอด และบ่มเพาะเครือข่าย นักวิจัย-ศิลปิน-ภาคประชาชนที่จะช่วยกันผลักดันทั้งวงการ bioart และ bioscience ไปข้างหน้า

Bioclub ที่ชิบุยะ ห้องแล็บสาธารณะและเมกเกอร์สเปซแห่งแรกของโตเกียว

จอร์จมาถึงแล็บของผมที่พิษณุโลกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นอกจากสัมภาระส่วนตัวจอร์จยังหอบเอาเครื่องพีซีอาร์ (PCR) ขนาดฝ่ามือ กับ “Bento Box” ชุดแยกวิเคราะห์ดีเอ็นเอฉบับกระเป๋าผลงานของหนึ่งในสมาชิกBCL ติดมาด้วย อ่านเพิ่มเติม   …และอีกชิ้นลืมไม่ได้คือใบ “มะเขือเทศกาบ้า” ที่อาจจะเป็นหรือไม่เป็นจีเอ็มโอก็ได้แล้วแต่มุมมอง

ระหว่างสัมภาษณ์แนะนำตัว จอร์จให้ผมดูภาพสวนปรมาณู (Atomic Garden) ที่เมืองฮิตาชิโอมิยะ พื้นที่เพาะปลูกรูปทรงจานบิน มีแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาตรงกลาง และไม้ดอกไม้ผลหลากชนิดปลูกอยู่รอบๆที่ระยะรัศมีต่างๆกัน รังสีทำให้พืชพวกนี้บางต้นกลายพันธุ์จนมีทรงพุ่ม ใบ ดอก และก้านกิ่งที่รูปร่างหรือสีผิดแผกจากที่เราเห็นกันปกติ การทำให้กลายด้วยรังสีเป็นเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชที่มีตั้งแต่ยุค 1920s  ก่อนที่มนุษย์เราจะรู้ว่าดีเอ็นเอหน้าตาเป็นยังไงด้วยซ้ำ

ตามธรรมชาติข้อมูลพันธุกรรมในดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตไม่ได้ถูกก็อบปี้และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเป๊ะๆแบบเครื่องถ่ายเอกสาร หากแต่เป็นการทำสำเนาทีละตัวอักษรเหมือนการคัดลอกเอกสารด้วยมือ กระบวนการลอกนี้มักจะมี

ข้อผิดพลาดเล็กๆน้อยๆนำมาสู่การกลาย  (mutation) จนเกิดลักษณะพันธุกรรมใหม่ๆและการวิวัฒนาการ อัตราการกลายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดเซลล์ ชนิดสิ่งมีชีวิต และปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ (รวมทั้งรังสีตามธรรมชาติด้วย) การฉายรังสีทำให้การกลายเกิดเร็วขึ้น แต่ก็ไม่เกินวิสัยที่จะเกิดได้ตามธรรมชาติหากทิ้งเวลาไว้นานพอ ดังนั้นพืชที่ถูกพัฒนาจากการฉายรังสีจึงยังได้รับการยอมรับว่าเป็นของธรรมชาติ ปลูกได้เลยทั่วไป

เทคนิคพันธุวิศวกรรมตัดต่อดีเอ็นเอถูกคิดค้นขึ้นช่วงยุค 1970s ทำให้เราสามารถตัดต่อยีนทั้งยีนหรือหลายๆยีนข้ามสิ่งมีชีวิต (transgenics) เปรียบเหมือนการลอกเอาทั้งประโยคหรือทั้งย่อหน้าจากเอกสารฉบับหนึ่งไปใส่อีกฉบับหนึ่ง เราสามารถเอายีนฆ่าแมลงจากแบคทีเรียไปใส่พืช ยีนผลิตฮอร์โมนจากคนไปใส่แบคทีเรีย หรือเอายีนผลิตสีน้ำเงินจากดอกไม้ชนิดหนึ่งไปใส่อีกชนิดอย่างในกรณีดอกคาร์เนชั่น moondust การตัดแปะข้อมูลพันธุกรรมทั้งประโยคหรือย่อหน้าแบบนี้แทบไม่มีโอกาสเกิดตามธรรมชาติเลย ดังนั้นเราเลยจำแนกสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นแบบนี้ว่าเป็น “จีเอ็มโอ” เป็นของผิดธรรมชาติชัดเจน ต้องผ่านการตรวจสอบเข้มงวดก่อนเอากินไปปลูก ทั้งข้อจำกัดด้านกฏหมาย ความกังวลของผู้บริโภคและนักนิเวศวิทยา ทำให้การเอาจีเอ็มโอไปใช้งานจริงทางการค้าตามหลังความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในห้องแล็บอยู่ไกล

เทคโนโลยีการแก้ไขยีน (gene editing) โดยเฉพาะเทคนิคคริสเปอร์แคส (CRISPR/Cas) ที่มาช่วงหลังปี 2013 ทำให้นิยามของจีเอ็มโอและความเป็นธรรมชาติ/ผิดธรรมชาติถูกท้าทายครั้งใหญ่ เทคนิคใหม่นี้ทำให้เราสามารถแก้จีโนมสิ่งมีชีวิตอย่างแม่นยำ จำเพาะตำแหน่ง โดยอาจจะไม่ตั้งตัดต่อยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่นไปใส่ ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนการไปแก้คำแก้ตัวสะกดเล็กๆน้อยๆในเอกสารโดยไม่ได้ไปก็อบประโยคหรือย่อหน้าแปลกปลอมจากไหนมาใส่เพิ่ม การทำให้กลายเล็กๆน้อยๆแบบนี้ไม่เกินวิสัยที่จะเกิดได้เองตามธรรมชาติเช่นเดียวกับการฉายรังสี จุดต่างสำคัญก็คือการฉายรังสีและตามธรรมชาติเราได้การกลายสุ่มๆมั่วๆ ต้องไปวัดดวงกันเอาเองไว้จะไปโดนยีนที่ต้องการจะเกิดลักษณะพันธุกรรมใหม่ๆที่เราอยากได้ แต่แก้ไขยีนแบบใหม่นี้เราเลือกได้เลยว่าจะแก้อะไรตรงไหน

ดังนั้นถ้าเราถือว่าการกลายจากรังสีและตามธรรมชาติเป็น “ความเปลี่ยนแปลงปกติที่เกิดได้เองตามธรรมชาติ” การแก้ไขยีนก็น่าจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันไหม? เราไม่ควรต้องวุ่นวายมานับว่ามันเป็นจีเอ็มโอให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพันธุ์อะไรใหม่ๆหรือเปล่า? อย่าง “มะเขือเทศกาบา” ที่เล่าไปตอนต้นเรื่องถ้าไปขึ้นอยู่ที่ที่หลังบ้านใครซักคนเราไม่มีทางพิสูจน์ได้เลยว่าเป็นฝีมือมนุษย์ การกลายตามธรรมชาติก็ทำให้เกิดมะเขือเทศแบบนี้ได้ถ้าแจ็คพอตไปลงตำแหน่งเหมาะสมในจีโนม

จอร์จชวนผมคิดเล่นๆว่าถ้าการแก้จุดเล็กๆในจีโนมหนึ่งจุดไม่นับว่าผิดธรรมชาติและไม่เป็นจีเอ็มโอ แล้วถ้าเราแก้เพิ่มไปอีกหนึ่งจุดหล่ะ? อีกสองจุด? สามจุด? สี่จุด? ฯลฯ ตรงไหนคือเส้นแบ่งกันแน่ระหว่างสายพันธุ์แท้ตามธรรมชาติกับสายพันธุ์ผิดธรรมชาติที่เป็นฝีมือมนุษย์? จอร์จเล่าให้ฟังถึงโปรเจก Bioart อีกชิ้นที่เขากำลังวางแผนทำ เป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับการแก้ยีนแบบซ้ำๆไปทีละจุดเรียงกันไปเรื่อยๆจนยีนทั้งยีนถูกแก้ไปหมดทั้งเส้น 

ยีนนั้นยังคงเป็นยีนเดิมอยู่ไหม? สิ่งมีชีวิตนั้นยังคงเป็นของแท้ตามธรรมชาติอยู่ไหม? นี่อาจจะเป็นปฏิทรรศน์ธีเซียส (Theseus’ Paradox) แห่งยุคชีววิทยาสังเคราะห์!!

ปริทรรศน์ธีเซียสแห่งยุคชีววิทยาสังเคราะห์เป็นมากกว่าเรื่องการเล่นคำหรือหัวข้อถกเถียงในวิชาปรัชญา ข้อตกลงของสังคมถึงเส้นแบ่งระหว่าง “ความเป็นธรรมชาติแท้และความผิดธรรมชาติ” ทั้งที่เป็นทางการในข้อกฏหมายและที่ไม่เป็นทางการความรับรู้ร่วมของภาคประชาชนจะเป็นหนึ่งในตัวกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับกับไบโอเทคโนโลยียุคใหม่ กำหนดพฤติกรรมผู้บริโภค เศรษฐกิจ การวิจัย และมุมมองการให้คุณค่าระดับบุคคล

มนุษย์เรามักเชื่อมโยงความเป็นธรรมชาติแท้กับความบริสุทธิ์ สมบูรณ์แบบ ควรค่าแก่การปกป้องรักษา และเชื่อมโยงสิ่งสังเคราะห์ดัดแปลงจากฝีมือเราเองกับความแปลกปลอม ปนเปื้อน ที่ต้องคอยสอดส่องระแวดระวัง

เส้นแบ่งของธรรมชาติที่แท้กับของดัดแปลงฝีมือมนุษย์กำลังจางหายด้วยผลของพันธุวิศวกรรมยุคใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องพืชที่เราไปปลูกในไร่นาหรือสวนหลังบ้าน แต่รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง สัตว์ในฟาร์ม จุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ตัวของมนุษย์เราเอง

โลกของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อมนุษย์ สัตว์ พืช จุลินทรีย์ ของธรรมชาติแท้และของดัดแปลงออกไปปะปนกันจนแยกไม่ออก?  บางทีศิลปิน นักวิจัย และนักปรัชญาอาจจะต้องมาช่วยกันตอบ

———————————————-

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC


เอกสารอ้างอิงคลิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image