ในบทความเรื่อง ลานีญา 3 ปีซ้อน ตอนแรก ผมได้เกริ่นไปว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาพิเศษทางลมฟ้าอากาศ เพราะเป็นช่วงที่เกิดลานีญา 3 ปีติดๆ กัน เรียกว่า triple-dip La Nina ตามบทความต่อไปนี้
ย้อนอ่าน ลานีญา 3 ปีซ้อน ตอนที่ 1/1 อ่านเพิ่มเติม
ทั้งนี้ได้แยกเป็นประเด็นย่อยๆ เอาไว้ 5 ข้อ คราวนี้มาดูกันต่อครับ
หก – สำหรับทวีปออสเตรเลีย นอกจากลานีญาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีกหรือไม่?
เมื่อพิจารณาเรื่องปริมาณฝนที่ตกในออสเตรเลีย เว็บของ Bureau of Meteorology ระบุปรากฏการณ์หรือดัชนีอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ปรากฏการณ์ไดโพลมหาสมุทรอินเดีย ดัชนี SAM และการแกว่งกวัดแมดเดน-จูเลียน (ทั้ง 3 ปรากฏการณ์นี้ ผมจะหาโอกาสขยายความโดยละเอียดอีกครั้ง ตอนนี้ขอนำสรุปมาให้อ่านกันก่อน)
ปรากฏการณ์ไดโพลมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Dipole) หรือไอโอดี (IOD) ปรากฏการณ์นี้มี 3 เฟส ได้แก่ IOD เฟสเป็นกลาง, IOD เฟสลบ และ IOD เฟสบวก
ในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม ถึง 30 สิงหาคม ค.ศ. 2022 พบว่า IOD มีเฟสเป็นลบ ซึ่งหมายความว่าปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกใต้จะมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยสำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย (ช่วงฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิดังกล่าว หมายถึงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน ค.ศ. 2022)
นั่นหมายความว่า เมื่อคิดรวมผลของลานีญากับ IOD เฟสลบ จะทำให้ออสเตรเลียมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกตินั่นเอง
ดัชนี SAM หรือ Sounthern Annular Mode index พบว่าในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม ถึง 30 สิงหาคม ค.ศ. 2022 ดัชนีนี้มีค่าเป็นกลาง แต่มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นบวกในช่วง 3 เดือนถัดไป (กันยายน-ตุลาคม-พฤศจิกายน ค.ศ. 2022) ทั้งนี้ ดัชนี SAM ที่เป็นบวกจะส่งอิทธิพลให้แทสมาเนียฝั่งตะวันตกแห้งแล้งกว่าปกติ ในขณะที่แถบรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิคตอเรียฝั่งตะวันออกจะความชื้นสูงกว่าปกติ
การแกว่งกวัดแมดเดน-จูเลียน (Madden-Julian Oscillation) หรือ MJO เป็นการแกว่งกวัดแบบขั้วคู่ที่เคลื่อนที่ทางทิศตะวันออกไปตามแนวเส้นศูนย์สูตร โดยขั้วหนึ่งจะมีฝนตกมากกว่าปกติ ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งจะมีฝนตกน้อยกว่าปกติ MJO ใช้เวลาเคลื่อนรอบโลกในช่วง 30-60 วัน
เจ็ด – ลานีญาส่งผลกระทบต่อทวีปอเมริกาเหนืออย่างไร?
เนื่องจากเมื่อเกิดลานีญา อุณหภูมิพื้นผิวของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกจะเย็นกว่าค่าปกติ ลักษณะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศที่อยู่เหนือขึ้นไป และส่งผลกระทบต่อเส้นทางของกระแสลมกรด (jet stream)
ตัวอย่างเช่น ในช่วงลานีญา กระแสลมกรดขั้วโลก (polar jet stream) จะขยับเลื่อนลงมาทางใต้ ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นลามลงมาทางแถบแคนาดาและตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา
ในขณะเดียวกันพื้นที่บางส่วนของสหรัฐอเมริกา (เช่น ทางตะวันตกเฉียงเหนือ) จะมีสภาพที่ชื้นกว่าปกติ
ส่วนบางพื้นที่จะแห้งแล้งกว่าปกติ (โดยเฉพาะทางแถบตะวันตกเฉียงใต้) ส่งผลให้มีโอกาสเกิดภัยแล้งและไฟป่าเพิ่มขึ้น
ดูแผนภาพแสดงผลกระทบของลานีญาต่อพื้นที่ต่างๆ ในทวีปอเมริกาเหนือตาม (ภาพที่ 2) คลิกดูภาพ
แปด – การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อ ENSO อย่างไร? [1]
รายงานล่าสุดของ IPCC เรื่อง Climate Change 2021: The Physical Science Basis ระบุว่า นับแต่ปี คศ 1950 สภาวการณ์ของเอลนีโญและลานีญาในระดับที่รุนแรงขึ้นเกิดบ่อยขึ้น เมื่อเทียบกับศตวรรษก่อนหน้านั้น แต่ IPCC ไม่สามารถระบุว่าการที่เป็นเช่นนี้เกิดจากการแปรเปลี่ยนสภาพตามธรรมชาติหรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
มีแง่มุมที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ แบบจำลองภูมิอากาศของ IPCC พยากรณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะทำให้น้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้นและส่งผลให้เกิดสภาพเอลนีโญบ่อยครั้งขึ้น แต่นักวิจัยเช่น ริชาร์ด ซีเกอร์ (Richard Seager) ซึ่งทำงานอยู่ที่หอสังเกตการณ์โลกลามอนต์-โดเฮอร์ที (Lamont-Doherty Earth Observatory) แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในพาลิเซดส์ รัฐนิวยอร์ค ตังข้อสังเกตว่า ผลจากการสังเกตการณ์ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ตรงกันข้ามกับที่แบบจำลองของ IPCC พยากรณ์เอาไว้
เกี่ยวกับประเด็นที่ผลการสังเกตการณ์ไม่ตรงกับคำพยากรณ์นี้ นักวิจัยบางคนให้เหตุผลว่าอาจเป็นเพราะข้อมูลที่บันทึกไว้ยังมีไม่มากพอที่จำทำให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น หรืออาจเป็นไปได้ว่ายังมีความผันผวนตามธรรมชาติมากเกินไปในระบบ ส่งผลให้นักวิจัยไม่สามารถระบุแนวโน้มระยะยาวได้
แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ด้วยเช่นกันว่าแบบจำลองสภาพภูมิอากาศของ IPCC ยังขาดตัวแปรสำคัญ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC
อ้างอิง
[1] Rare ‘triple’ La Niña climate event looks likely — what does the future hold? อ่านเพิ่มเติม