‘เปิดผลสำรวจนิด้าโพล’ ประชาชนเชื่อมั่นการจัดการน้ำท่วมของรัฐ

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการจัดการสถานการณ์น้ำท่วมของไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการจัดการสถานการณ์น้ำท่วมของไทย

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ.2561 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.14 ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ และร้อยละ 12.86 ระบุว่าได้รับผลกระทบ โดยผู้ที่ระบุว่าได้รับผลกระทบ ร้อยละ 23.46 ระบุว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด ร้อยละ 25.31 ระบุว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ร้อยละ 38.27 ระบุว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย และร้อยละ 12.96 ระบุว่าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ด้านสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมของประเทศไทยในทุกๆ ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.63 ระบุว่ามีปริมาณน้ำฝนมากเนื่องจากฝนตกหนัก รองลงมา ร้อยละ 43.17 ระบุว่าการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่า ร้อยละ 37.30 ระบุว่าการขยายตัวของเขตชุมชน และการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ร้อยละ 28.10 ระบุว่าการบริหารจัดการของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 12.94 ระบุว่าภูมิประเทศของประเทศไทยเป็นที่ลุ่มน้ำ ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำหลายสาย ร้อยละ 0.79 ระบุอื่นๆ ได้แก่ เขื่อนไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้หมด ขณะที่บางส่วนระบุว่าเป็นภัยธรรมชาติ และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความเชื่อมั่นต่อโครงสร้าง ความมั่นคง ความแข็งแรงของเขื่อนในประเทศไทย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.73 ระบุว่ามีความเชื่อมั่น เพราะวิศวกรมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้าง ออกแบบมาอย่างดี มีความแข็งแรงคงทน และจากสถานการณ์ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีปัญหาเกิดขึ้น รองลงมา ร้อยละ 17.30 ระบุว่าไม่มีความเชื่อมั่น เพราะสร้างมาเป็นเวลานานโครงสร้างต่างๆ ก็เสื่อมลงตามกาลเวลา ไม่ค่อยได้ลงไปตรวจสอบคุณภาพความแข็งแรงของเขื่อนเท่าที่ควร ขณะที่บางส่วนระบุว่า ภัยธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถควบคุมได้ และร้อยละ 3.97 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

Advertisement

เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำท่วม ของหน่วยงานรัฐ พบว่าประชาชน ร้อยละ 14.28 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก ร้อยละ 49.36 ระบุว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ร้อยละ 29.05 ระบุว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 4.29 ระบุว่าไม่มีประสิทธิภาพเลย และร้อยละ 3.02 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยผู้ที่ระบุว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก-มาก ได้ให้เหตุผลว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเร่งดำเนินงานอย่างเต็มที่ และหาแนวทางการป้องกันอย่างจริงจัง ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ-ไม่มีประสิทธิภาพเลย ให้เหตุผลว่าไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ช่วงหน้าฝน หรือการผันน้ำที่ดี อุปกรณ์ไม่เพียงพอ การทำงานล่าช้า และแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วมของประเทศไทย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.37 ระบุว่าให้มีการบริหารจัดการเรื่องการระบายน้ำกับทุกเขื่อนในประเทศไทยสม่ำเสมอ รองลงมา ร้อยละ 35.40 ระบุว่าหน่วยงานรัฐมีการบริหารจัดการน้ำที่มีระบบและมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 30.87 ระบุว่าติดตั้งสัญญาณเตือนภัยน้ำท่วมทุกจังหวัดที่ประสบภัยทุกปี ร้อยละ 28.41 ระบุว่าตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนทุกเขื่อนสม่ำเสมอ ร้อยละ 21.67 ระบุว่าจัดตั้งหน่วยงานช่วยเหลือด้านน้ำท่วมโดยเฉพาะ ร้อยละ 14.84 ระบุว่าจัดเวรยาม เฝ้าระวังน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง ร้อยละ 3.41 ระบุอื่นๆ ได้แก่ รณรงค์ปลูกต้นไม้ทดแทน ลดการตัดไม้ทำลายป่า มีมาตรการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่ม ขณะที่บางส่วนระบุว่าการบริหารจัดการตอนนี้ดีอยู่แล้ว และร้อยละ 3.33 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image