สทนช.เร่งบริหารจัดการน้ำภาคอีสานทั้งระบบ พร้อมเฝ้าระวังภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ห้องประชุมมงกุฎเงิน ชั้น 2 โรงแรมโฆษะ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายปรีชา สุขกล่ำ รักษาการที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานในการประชุมติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง สทนช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้จัดการประชุมขึ้น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนองค์กรภาคเอกชนและประชาชนที่เกี่ยวข้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน

นายบุญสม ชลพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ สทนช.กล่าวว่า สถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในภาคอีสานขณะนี้ เกิดจากอิทธิพลของพายุที่พาดผ่านเข้ามาในพื้นที่ต่อเนื่องกัน 2 ลูก ดังนั้น พื้นที่จังหวัดที่กำลังประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ ทุกหน่วยงานกำลังเร่งบริหารจัดการน้ำ และผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขง เพราะพื้นที่ที่ประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุนั้น เป็นพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง ดังนั้น เมื่อการผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขงแล้ว และกลับเข้าสู่สภาพเดิม จะต้องมีการวางแผนการเพาะปลูก และการทำการเกษตรให้กับพื้นที่ที่ประสบภัยทันที เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่นั้น เป็นภาคการเกษตร ดังนั้น แผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศที่ สนทช.ร่วมกับ มข.ได้ดำเนินการในพื้นที่ภาคอีสานนั้น คือการวางแผนการใช้น้ำทั้งระบบ

“ปี 2558-2259 ภาคอีสานประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งอย่างหนัก แต่ปี 2560 ภาคอีสานประสบกับปัญหาน้ำท่วม ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะแม่น้ำสายหลักที่สำคัญของภาคอีสานคือ แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ที่ทุกจังหวัดต้องใช้น้ำร่วมกันนี้ คณะทำงานจะต้องบริหารจัดการต่อไปให้ได้ และในเดือนกันยายนนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนจะตกลงมาแต่ไม่มากนัก การบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับภาวะภัยแล้งจากนี้ไปสำคัญ” นายบุญสม กล่าว

นายบุญสมกล่าวอีกว่า วันนี้เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งรับผิดชอบกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงร้อยละ 28 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้เพียง 100 ล้าน ลบ.ม.ดังนั้น การเติมน้ำจึงจำเป็นอย่างมากในการมีน้ำหมุนเวียนไว้ใช้งานตลอดทั้งช่วงฤดูแล้ง ขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จากแผนการบริหารจัดการน้ำด้วยการเก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี น้ำในเขื่อนลำปาวจะต้องมีความจุอยู่ที่ 1,600 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งขณะนี้มีอยู่ที่ 1,200 ล้าน ลบ.ม.ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในระยะนี้จะต้องสัมพันธ์กันในภาพรวมทั้งหมด”

Advertisement

นายบุญสมกล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการศึกษาข้อมูล และกำหนดเป็นแผนการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการน้ำในภาพรวม และหากว่าเดือนกันยายน มีปริมาณน้ำฝน หรือปริมาณน้ำที่จะไหลลงความจุอ่างของเขื่อน หรือแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ ไม่เพียงพอ จะต้องเตรียมการในขั้นตอนของการจัดทำฝนหลวงทันที เพราะสถานการณ์น้ำท่วม และสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นแบบซ้ำซากนั้น จะต้องได้รับการแก้ไข และมีการวางแผนการดำเนินการร่วมกัน ทั้งในส่วนของรัฐบาล หน่วยงานที่รับผิดชอบ จนถึงระดับปฎิบัติการ และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image