‘วีระศักดิ์’ สรุปผลประชุมกก.นโยบายท่องเที่ยวฯ พบขยายตัว

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และรองประธานกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ  ทำหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2561

โดยระบุว่า  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ได้จัดทำสรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เรียบร้อยแล้วรายละเอียด ดังนี้

1.สถานการณ์การท่องเที่ยว 6 เดือนแรกของปี 2561 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนทั้งสิ้น 19.48 ล้านคน (ขยายตัวร้อยละ 12.46) สร้างรายได้ 1.01 ล้านล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 15.88) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนในเดือนกรกฎาคม นักท่องเที่ยวจีนหดตัวลงในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดมาตรการระยะยาวในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว โดยดำเนินการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดูแลเรื่องมาตรฐานการเดินเรือ ทั้งท่าเทียบเรือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเที่ยวทางเรือ ผู้บังคับใช้กฎหมายรวมถึงระบบการเตือนภัยล่วงหน้า และการจัดทำประกันภัยภาคบังคับสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2561 ตลอดทั้งปีจะสร้างรายได้โดยรวม 3 ล้านบาท เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 1 ล้านล้านบาท

2.สำหรับคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้ง นายเทิดชาย ช่วยบำรุง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แทนนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ซึ่งได้มีประกาศพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงมีผลทำให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ

Advertisement

3.ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 37 ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 21-27 มกราคม 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยประเทศไทยได้ผลักดันประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล การลงทุนด้านการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวทางเรือ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร รวมทั้งได้มีการรับรองปฏิญญาร่วม 2 ฉบับ โดยไม่มีการลงนาม ได้แก่ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการท่องเที่ยวทางเรือ และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอนูภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 41

ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานประสานความร่วมมือการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และผลการประชุมการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ปี พ.ศ.2561 การหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากับเลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization : UNWTO) ในคราวเดินทางมาเยี่ยมคารวะเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน The 4th UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism

4.สำหรับการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามนโยบายรัฐบาล ที่ประชุมมีมติดังนี้ (1) รับทราบการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงคมนาคม โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน (Quick Win) ด้านระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในระยะยาว รวมทั้งการสำรวจพื้นที่ Thailand Riviera เพื่อประเมินศักยภาพ ความพร้อมและความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนงาน/โครงการรองรับต่อไป

Advertisement

(2) รับทราบการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงวัฒนธรรม โดยได้มีการหารือเพื่อจัดทำฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงศาสนาพุทธ การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาในรูปแบบ Digital Content ผ่าน Platform Thailand Tourism Directory ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

(3) รับทราบการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการประชุมร่วมกันในวันที่ 2 สิงหาคม 2561 เพื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริม “วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยวและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว

5.ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 วงเงิน 891.29 ล้านบาท จำแนกเป็น กรมการท่องเที่ยว 106.29 ล้านบ้าน ซึ่งได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมภาษาอังกฤษ การจัดการท่องเที่ยวชุมชน การทำโฮมสเตย์ การอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย จัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว รวมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 785.00 ล้านบาท ดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชนตามโครงการท่องเที่ยวชุมชน อะเมซิ่งไทยแลนด์โกโลคอล (Amazing Thailand Go Local) โครงการบริหารจัดการข้อมูลอัจฉริยะเพื่อการท่องเที่ยว (Tourism Smart DATA Management) และโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งห่วงโซ่คุณค่าด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรอง (Marketing – Led Tourism Development) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ

6.ที่ประชุมรับทราบความร่วมมือด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างซึ่งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และกรมพัฒนาการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านข้างได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวร่วมกันในพื้นที่สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง ได้มีการจัดทำมาตรฐานการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT LANXANG และการอบรมพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านการท่องเที่ยวในส่วนฐานข้อมูลของ Software และ Hardware โครงการพัฒนาความร่วมมือการท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง โครงการส่งเสริม/ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในพื้นที่สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง โครงการความร่วมมือการจัดงานประเพณีร่วมกันเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวระหว่างท้องถิ่น/ชุมชนในเขตการพัฒนาการท่องเที่ยวสองฝั่งแม่น้ำโขง และโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง

7.สำหรับการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวชุมชนและการกระจายรายได้สู่เมืองรองการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการ Amazing Thailand Go Local และมีการปรับสัดส่วนผู้เยี่ยมเยือนเมืองหลักต่อเมืองรอง จากเดิม 70:30 เป็น 65:35 และมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ สร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่และจัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรอง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และการพัฒนาคนสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนผ่านโครงการอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยวในรูปแบบพัฒนาผู้สอน นอกจากนี้แผนการดำเนินงาน ปี 2562 เน้นการใช้วิถีการกินนำไปสู่การสัมผัส Local Experience สร้างมูลค่าเพิ่มด้วย Content สร้างกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม และชูอัตลักษณ์เมืองรองมาเป็นส่วนผสมหลักในการสร้างสรรค์สินค้าสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

8.การขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ ที่ประชุมมีมติดังนี้
1) เห็นชอบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิม ตามที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาตินำเสนอ ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ยกระดับความสะดวกที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิม (2) ส่งเสริมกลไกการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิม (3) เสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิม และ (4) ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิม โดยมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิม ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561-2565)

2) เห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ.2561-2570 ซึ่งประกอบด้วย 7 ยุุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การพัฒนาท่าเรือสำราญ (ท่าเรือหลัก ท่าแวะพัก ท่าเรือเล็กรองรับ จุดทอดสมอ และท่าเรือเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยว) และสิ่งอำนวยความสะดวกหลังท่า (2) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว/กิจกรรมการท่องเที่ยว (3) การส่งเสริมด้านการตลาด (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงสาธารณูปโภค และระบบโดยสารสาธารณะ (5) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ (6) การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งบนเรือและบนฝั่ง และ (7) ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงคมนาคม

โดยกรมเจ้าท่าบูรณาการร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายพื้นที่ในการดำเนินโครงการท่องเที่ยวทางเรือและทางน้ำซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เรือขนาดเล็ก เรือยอร์ช จนไปถึงเรือสำราญขนาดใหญ่และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ2561-2570
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ให้มีการขยายการก่อสร้างรถไฟทางคู่จากจังหวัดชุมพร ไปยังจังหวัดระนองเนื่องจากจังหวัดระนองเป็นจังหวัดที่มีท่าเรือน้ำลึกสามารถพัฒนาให้เป็นเมืองท่าหลักและมีศักยภาพสามารถพัฒนาโครงการพื้นฐานสำคัญโดยเฉพาะรถไฟทางคู่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเส้นทางการค้า การลงทุนและการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทะเลอันดามันกับทะเลอ่าวไทย และไปยังจุดหมายอื่นๆ ที่สำคัญได้ เช่น ประเทศในเอเชียใต้ ซึ่งหากมีการขยายการก่อสร้างรถไฟทางคู่ดังกล่าวจะทำให้ภาคใต้มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น ตลอดจนสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวกับต่างประเทศได้ โดยจังหวัดระนองควรพัฒนาให้เป็นเมืองท่า เป็น Smart city

9.สำหรับมาตรฐานที่พักแบบพำนักระยะยาว (Long Stay Standard) ฉบับปรับปรุงที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มเติมอีกครั้ง เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในคำนิยามของคำว่า “ที่พักเพื่อการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว” และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

10.ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้มีการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยให้เพิ่มเป้าหมายและตัวชี้วัดในด้านการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในแผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและกีฬาและวัฒนธรรม ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปดำเนินการ เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณาทบทวนและกำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image