สุจิตต์ วงษ์เทศ : ย้อนยุคอำนาจนิยม สะท้อนการศึกษาไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ

คนเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นนาย มักปรารถนาความไม่เท่าเทียม แล้วต้องการดำรงรักษาความไม่เท่าเทียมนั้นอย่างเหนียวแน่น และอย่างมั่นคง

เพื่อตนเองมีอำนาจเหนือคนอื่น แล้วได้การยอมรับและยกย่องจากสังคม ให้คนอื่นสยบยอมเชื่อฟังตน

วัฒนธรรมอำนาจ ครอบงำสังคมไทยในนามระบบอุปถัมภ์ สร้างความสัมพันธ์แบบ ผู้ใหญ่-ผู้น้อย, หัวหน้า-ลูกน้อง, นาย-บ่าว ฯลฯ

คนเป็นผู้น้อย, ลูกน้อง, บ่าว มีหน้าที่รับคำสั่ง แล้วทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดโดยไม่ปริปาก

Advertisement

ใครถาม แปลว่า เถียง

ใครวิจารณ์ แปลว่า ด่า

แล้วถูกลงโทษหนักเบาตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจเหนือกว่า

อำนาจนิยมและความไม่เท่าเทียม หยั่งรากลึกมากและนานมากในระบบการศึกษาไทยทุกระดับ ตั้งแต่ประถม, มัธยม, อุดมศึกษา สำนึกอย่างนี้จึงมีมากในมหาวิทยาลัย

ครูบาอาจารย์สอนให้นักเรียนนักศึกษาอยู่ในโอวาท ท่องจำคำสอนและคำตอบสำเร็จรูป โดยกีดกันและปิดกั้นการซักถามและถกเถียง

Advertisement

ขณะเดียวกันก็ครอบงำย้ำว่าซักถามถกเถียงเป็นสิ่งชั่วร้าย เถียงครูไม่ได้ เถียงผู้ใหญ่ไม่ดี เด็กดีต้องไม่ถาม ไม่เถียง ไม่วิพากษ์วิจารณ์

นักการศึกษาสมัยใหม่ รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมสมัย พยายามเรียกร้องปฏิรูปยกเลิกการเรียนการสอนแบบท่องจำตามครู แล้วกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษา

กล้าคิด กล้าแสดงความเห็น กล้าถาม กล้าเถียง กล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างสากลโลก

แต่แล้วล้มเหลวถึงขั้นเจ๊งล้มละลาย เพราะกฎหมายลงประชามติ ย้อนยุคย้อนเวลา

แล้วย้อนการศึกษาไทยให้กลับสู่วัฒนธรรมอำนาจสมบูรณ์ เหมือนกรุงสุโขทัย ราชธานีแห่งแรกของไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image