สุจิตต์ วงษ์เทศ : กัลกัตตา ใน Voice TV มีชาวเบงกอล และกุลาตีไม้

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ผมเผลอตก (โดยไม่รู้ตัว) ลงไปใน “ขุมแฟนคลับ” ของรายการ Journal Journey เจอนิ่ม กรกฎ พัลลภรักษา ทาง Voice TV

เหตุจากดูโดยบังเอิญเมื่อปีก่อนเรื่องไปเฝ้าพระอิศวรที่เขาไกรลาส แล้วต้องตามดูเพื่อหาความรู้และความคิดจากภาพมหัศจรรย์กับถ้อยคำรำพันมีวรรณศิลป์เฉพาะตัวของเธออีก ในรายการอื่นๆ ที่ผลิตออนแอร์ต่อมาทั้งกัลกัตตา, ทิเบต, เซี่ยงไฮ้

[ด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ผมปรารภกับคุณพี่แขก คำผกา ว่าอยากได้สารคดีเขาไกรลาสเป็นแผ่นไว้ดูทบทวนวรรณกรรมโบราณ ขณะเดียวกันก็ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเอาไปสอนในวิชาโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลป์ คุณพี่ก็จัดการส่งให้หลายแผ่นใส่ถุงแน่นหนา ผมเห็นแล้วตกใจ เพราะคิดเองว่าสักแผ่นสองแผ่น แต่นี่มันเป็นสิบๆ แผ่นจนแน่นในอก พูดไม่ออก ขอประทานโทษอย่างสูง]

ตอนสายวันเสาร์ 30 เมษายน ราวหลัง 08.30 น. ได้ยินเสียงกลองรัวเป็นข้าวตอกแตกเหมือนกลองแขกขั้นเทพ กับเสียงสาวมีกระแสเสสรวลชวนสิเน่หาบอกเล่าเรื่องราวที่มีวิสัยสืบค้นข้อมูลพูนเพียบ (โดยไม่ด้นดำน้ำอย่างสารคดีท่องเที่ยวทางโทรทัศน์ทั่วไป) ด้วยวลีหนึ่งว่า

Advertisement

“คนที่กัลกัตตาเป็นชาวเบงกอล หรือเบงกาลี”

คำเบงกอล เป็นต้นทางคำว่า กุลา ในภาษาไทย พบเก่าสุดราว พ.ศ. 2000 อยู่ในกฎมณเฑียรบาล (ยุคต้นอยุธยา) ว่า กุลาตีไม้ เป็นการละเล่นอย่างหนึ่ง มีคนหมู่หนึ่งแต่งตัวสองมือถือไม้ แล้วเต้นตีไม้กระทบกันตามจังหวะ ใช้เล่นในพระราชพิธี

เป็นการละเล่นได้จากพวกบังกลา หรือ เบงกาลี หรือ เบงกอล มีขอบเขตตั้งแต่บังกลาเทศไปถึงชมพูทวีป (ยุคก่อนอยุธยา หรือก่อน พ.ศ. 2000 มากกว่า 600 ปีมาแล้ว) ขณะนั้นยังไม่มีอินเดียและไม่มีเมืองกัลกัตตา เพราะอังกฤษยังไม่เข้ายึดครองชมพูทวีป

Advertisement

หลังจากนั้น กุลา ขยายความหมายกว้างเกินคนเบงกอล ไปถึงไทยใหญ่ เช่น กุลา ในชื่อทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสาน หมายถึงไทยใหญ่ ฯลฯ

สุนทรภู่รู้เบงกอล

กลอนสุนทรภู่ในรำพันพิลาป (แต่งตอนบวชอยู่วัดเทพธิดาราม สมัย ร.3) พรรณนา “เมืองมังกล่า” อ่าวเบงกอล หมายถึง เมืองกัลกัตตา สมัยอังกฤษยึดครองเป็นอาณานิคม ตอนหนึ่งว่า

เมืองมังกล่าฝาหรั่งอยู่ทั้งแขก พวกเจ๊กแทรกแปลกหน้าทำภาษี

แลพิลึกตึกรามงามงามดี ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา

ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา

ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย

แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ คนซื้อร้องเรียกหาจึ่งมาขาย

ด้วยไม่มีตีโบยขโมยขมาย ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ

ไม่พบหลักฐานตรงๆ ว่าสุนทรภู่เคยเดินทางออกนอกประเทศไปทางทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย หรือไปที่อื่นๆ

แต่สุนทรภู่รอบรู้เรื่องราวบ้านเมืองรอบอ่าวเบงกอล จนถึงลังกา ดังข้อความในรำพันพิลาปและพระอภัยมณี นักค้นคว้านักวิชาการจำนวนหนึ่งจึงสงสัยว่าสุนทรภู่น่าจะเคยไปทางทะเลอันดามัน เช่น คราว ร.2 ส่งพระสงฆ์ไปลังกา ในคณะน่าจะมีสุนทรภู่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image