สศอ.เตือนภัยเอกชนรับมือ 3 อุตฯหลักขาลง เร่งประสานผู้ผลิต-ลุ้น รบ.ใหม่กระตุ้น

สศอ.มอนิเตอร์ 9 อุตฯสำคัญของไทย เตือนภัยเอกชนรับมือ 3 อุตฯหลักขาลง เร่งประสานผู้ผลิต-ลุ้น รบ.ใหม่กระตุ้น

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.วิเคราะห์ทิศทางอุตสาหกรรมปี 2562 จำนวน 9 อุตสาหกรรมหลักของไทยมีอันดับการส่งออกสูงสุด และส่วนแบ่งการตลาดของโลกสูง พบว่ามี 3 อุตฯที่ต้องจับตาว่าอาจอยู่ในช่วงขาลงหากไม่รีบปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีปัจจุบันและแนวโน้มนั่้นคือ อุตฯการผลิตรถยนต์ อุตฯการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตฯผลิตภัณฑ์ยาง

“ผลการศึกษาชี้ชัดว่า 3 อุตฯจะต้องเร่งปรับตัว อย่างอุตฯรถยนต์พบว่าเทรนด์รถยนต์แห่งอนาคต ทั้งไฮบริด ปลั๊กอิน ไฮบริด และไฟฟ้า (อีวี) กำลังเป็นทิศทางของโลก ซึ่งภาครัฐเองก็สนับสนุนการผลิตแต่พบว่ายังมีบางจุดที่เป็นอุปสรรคจึงพยายามผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด (อีโคอีวี) แต่ค่ายรถไม่อยากทำจึงต้องพับโครงการไว้ก่อน ขณะที่อุตฯไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แม้ไทยจะมีความแข็งแกร่ง แต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อให้สินค้าตอบสนองความต้องการของโลก และอุตฯผลิตภัณฑ์ยาง ที่ไทยยังเน้นผลิตแต่ต้นน้ำ ยังไม่มีการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่ามากนัก โดยความกังวลดังกล่าว สศอ.จะประสานกับผู้ผลิต และจะเสนอรัฐบาลชุดใหม่เพื่อพิจารณาและออกมาตรการผลักดันต่อไป” นายณัฐพลกล่าว

นายณัฐพลกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พบว่ามี 3 อุตฯที่เป็นดาว คือ มีการเติบโตสูง สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ อุตฯการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เพราะไทยเป็นฐานการผลิตของโลก มีวัตถุดิบด้านการเกษตรที่สำคัญหลายชนิด ทั้งข้าว ปาล์ม อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ขณะที่อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานได้รับความนิยมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สศอ.อยู่ระหว่างนำเสนอยุทธศาสตร์อาหาร 20 ปี เพื่อผลักดันการผลิตอาหารที่มีความหลากหลาย อาทิ อาหารทางการแพทย์ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ผู้ผลิตของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีอุตฯปิโตรเคมี ที่เติบโตอย่างมากเพราะผู้ผลิตของไทยมีความโดดเด่นขึ้นอันดับโลก อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และอุตสาหกรรมที่โดดเด่นอีกประเภท คือ พลาสติก เพราะมีฐานผลิตที่แข็งแรงและมีการพัฒนาไปสู่สินค้านวัตกรรม ประกอบกับไทยมีพืชพลังงานที่รองรับเพื่อมุ่งสู่ไบโอพลาสติก

Advertisement

นายณัฐพลกล่าวว่า ทั้งนี้ พบว่ามี 3 อุตฯที่ภาครัฐและเอกชนต้องพิจารณาว่าควรจะเดินไปในทิศทางใด เพราะตลาดโลกมีความต้องการแต่ผลิตภัณฑ์ยังไม่มีทิศทางชัดเจน บางอุตสาหกรรมผู้ผลิตปรับตัวแต่นโยบายรัฐยังไม่สอดรับเพียงพอ คือ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเหล็ก

นายณัฐพลกล่าวว่า สำหรับ 9 อุตฯหลัก ประกอบด้วย อุตฯการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สัดส่วนส่งออกรวมปริมาณและมูลค่า 19.93% และส่วนแบ่งการตลาด 2.6% อุตฯการผลิตรถยนต์ 13.89% ส่วนแบ่งการตลาด 2.2% อุตฯการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 11.96% ส่วนแบ่งการตลาด 2.1% อุตฯการผลิตปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 8.01% ส่วนแบ่งการตลาดเฉพาะปิโตรเคมี 3.8% และส่วนแบ่งเฉพาะเคมีภัณฑ์ 0.9% อุตฯการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง 5.36% ส่วนแบ่งการตลาด 9.2% อุตฯการผลิตเหล็ก 3.59% ส่วนแบ่งการตลาด 0.5% อุตฯการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก 3.54% ส่วนแบ่งการตลาด 1.3% และอุตฯการสิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย 3.52% ส่วนแบ่งการตลาด 1.0%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image