โปรเจ็กต์ 7 พันล. ฟื้นฟู 2 บึงใหญ่ “ราชนก-บอระเพ็ด”

DCIM100MEDIADJI_0204.JPG

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการแผนฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก และแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ

โดยแผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก รวม 4 ด้าน ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (พ.ศ.2563-2569) วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,456.98 ล้านบาท ให้เร่งดำเนินการแผนงานเร่งด่วนที่มีความพร้อม จำนวน 11 โครงการ ในระหว่างปี พ.ศ.2563-2565 วงเงินงบประมาณ 754.56 ล้านบาท เช่น โครงการแก้ไขปัญหาบุกรุกเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่บึงราชนก โครงการขุดลอกพื้นที่บึงราชนก (บางส่วน)

ขณะที่แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ รวม 6 ด้าน ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ.2563-2572) วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,701.5 ล้านบาท ให้เร่งดำเนินการแผนงานเร่งด่วนที่มีความพร้อม จำนวน 9 โครงการ ในระหว่างปี พ.ศ.2563-2565 วงเงินงบประมาณ 1,513.5 ล้านบาท เช่น โครงการตรวจสอบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนในเขตพื้นที่บึงบอระเพ็ด ในพื้นที่ ให้ หวง ห้ามŽ การขุดลอกคลอง/ตะกอนดิน โดยจะต้องดำเนินการได้ทันทีในปีงบประมาณ พ.ศ.2563

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบึงราชนก จ.พิษณุโลก และบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ มีสภาพเสื่อมโทรมและตื้นเขิน ทำให้มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์หรือบุกรุกพื้นที่บึงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้ประโยชน์และเป็นพื้นที่รับน้ำได้ไม่เต็มศักยภาพ

Advertisement

หาญณรงค์ เยาวเลิศ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ กล่าวว่า แรกเลยเมื่อเห็นข่าวนี้ออกมาก็ตั้งคำถามทันทีว่ารัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระทำเรื่องอะไรแบบนี้ได้ด้วยหรือ การอนุมัติงบประมาณแม้จะเป็นงบแบบผูกพันถึง 10 ปีก็ตาม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีขั้นตอนมีการวางแผนการจัดการ

ที่บอกว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็เพราะบึงบอระเพ็ดนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ มีความละเอียดอ่อนของสิ่งแวดล้อมอยู่ มีนกน้ำ มีนกอพยพ มีปลา มีต้นไม้ ซึ่งการก่อสร้าง และพัฒนาอะไรก็ตามจะต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอน ผมไม่เห็นในรายละเอียดว่าเงิน 7 พันกว่าล้านนั้น มีหน่วยงานใดเอาไปใช้บ้าง แต่เข้าใจว่า เรื่องของการขุดลอก พัฒนาที่ดินนั้น ก็น่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ซึ่งไม่ค่อยจะคำนึงถึงความละเอียดอ่อนที่เป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่มากนักŽ
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำยังบอกด้วยว่า การใช้งบประมาณ 7 พันล้านรอบนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เป็นการพัฒนาบึงบอระเพ็ดและบึงราชนก เพราะก่อนหน้านี้ราวปี พ.ศ.2557-2558 ก็มีการขุดลอกบึงบอระเพ็ดมาแล้ว ใช้งบประมาณในหลักร้อยล้าน สิ่งที่ทุกคนในจังหวัดเห็นก็คือ มีรถแบ๊กโฮนับร้อยคันลงไปขุดลอกดินตะกอนจากในบึง แล้วก็เอาขึ้นมากองๆ ไว้ข้างบึง โดยไม่ได้วางแผนมาล่วงหน้าว่าเมื่อขุดดินขึ้นมาแล้วจะเอาดินเหล่านั้นไปไว้ที่ไหน กลายเป็นว่าได้ภูเขาเพิ่มขึ้นมาอีกลูก และยังต้องสูญเสียความเป็นระบบนิเวศที่ไม่สามารถเอาคืนมาได้ นั่นคือดินที่ถูกขุดมาได้เอาไปกองอยู่ริมบึงนั้น ได้ไปถมทับทำลายรังนกน้ำที่อาศัยอยู่รอบๆ บึงเสียหาย ตายไปจำนวนมาก แต่หากมีการศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อนเรื่องเหล่านี้ก็จะไม่เกิด เพราะจะได้รู้ว่าดินตะกอนที่ขุดขึ้นมานั้นควรเอาไปไว้ที่ไหน

ก่อนหน้านี้ที่เคยมีงบบูรณาการ 35,000 ล้านเข้ามา เพื่อโครงการต่างๆ ทั่วประเทศนั้น มีการยกเลิกมติ ครม. 3 พฤศจิกายน 2553 ว่าด้วยเรื่องการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งเป็น 1 ใน 17 ข้อ สำหรับการจัดการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้การขุดลอกบึงบอระเพ็ดเป็นไปอย่างขาดการจัดการ และต้องสูญเสียระบบนิเวศที่สำคัญ ที่จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถเอาคืนมาได้Ž

นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ในฐานะนักอนุรักษ์ที่ทำงานเรื่องการจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำมาตลอด รู้สึกเป็นห่วงกับโครงการพัฒนา ขุดลอกฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด รวมไปถึงบึงราชนกมาก เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาแบบสักแต่ว่าสร้างและขุด โดยไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนในพื้นที่ทำให้ต้องสูญเสียสิ่งที่ไม่ควรเสียไปมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว

มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒน์

นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า บึงราชนกจะเป็นสถานที่ก่อเกิดประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะเป็นแก้มลิง บรรเทาภัยแล้ง ป้องกันน้ำท่วม ประชาชนมีน้ำทำการเกษตร การท้วงติงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ต้องการให้แหล่งน้ำ คือ แหล่งน้ำ บึงราชนกŽ พื้นที่ 4,800 ไร่ จึงถูกกำหนดให้มีการขุดลอกเป็นบึงมากถึง 80% ของพื้นที่ ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นพื้นที่สันทนาการ แบ่งให้มหาวิทยาลัยนเรศวร 200-300 ไร่ อบจ.พิษณุโลก มีหน้าที่ดำเนินการสวนรุกขชาติ ซึ่ง อบจ.ดำเนินการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดอายุกว่า 10 ปี ทำเป็นเกาะกลางน้ำให้คนได้พักผ่อนหย่อนใจ สูดโอโซน เป็นสถานที่ออกกำลังกาย พัฒนาสวนสาธารณระดับเมืองพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ 364 ไร่ พัฒนาพื้นที่สวนศึกษาธรรมชาติ พื้นที่ 160 ไร่ พื้นที่สาธารณะชุมชน 90 ไร่ สร้างสะพานไม้เชื่อมกับเกาะกลางน้ำ มีถนนโดยรอบระยะทาง 14 กิโลเมตร มีจุดพัก 1-3 กิโลเมตร พร้อมจัดเก้าอี้พักผ่อนตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตรด้วย
บึงราชนกมีพื้นที่แหล่งน้ำ 3,714 ไร่ (จากเดิม 858.18 ไร่) และมีปริมาณน้ำเก็บกัก/ชะลอได้ 28.850 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาพื้นที่อุทกภัยในพื้นที่อำเภอวังทอง 10,575 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 22,370 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 3,960 ไร่ เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของ จ.พิษณุโลก พร้อมธรรมชาติสวยงาม บึงเก็บน้ำที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการปรับปรุงได้ในปีงบประมาณ 2563

ขณะที่ นายวิวัฒน์ ปรารมภ์ ประมงจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า โครงการฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ มีแผนหลัก 6 ด้าน ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (2563-2572) อาทิ การบริหารจัดการและการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน 17 โครงการ การแก้ปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงของน้ำ จำนวน 22 โครงการ คุณภาพน้ำ ตะกอน และรักษาระบบนิเวศ จำนวน 7 โครงการ เพื่อแก้ปัญหาตะกอนทับถมจากตะกอนดินและวัชพืชที่เสื่อมสลาย และทำวังปลา การจัดการน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัย จำนวน 6 โครงการ และการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ จำนวน 3 โครงการ เป็นต้น

หากเป็นไปตามแผนจะส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในบึงบอระเพ็ดมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 67 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 3,000 ไร่ เพิ่มความจุประมาณ 21.5 ล้าน ลบ.ม. ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ประมาณ 21,000 ไร่ ถือเป็นโปรเจ็กต์ระดับ 7 พันล้านบาทเพื่อฟื้นฟูบึง ราชนก-บอระเพ็ดŽ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image