ประท้วง โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

เวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ประท้วงเกิดขึ้นเกือบทุกภูมิภาคในโลก

อิรักมีการประท้วงทั่วประเทศ 1 สัปดาห์ มีผู้เสียชีวิต 110 คน บาดเจ็บกว่า 6 พันคน

อียิปต์มีการประท้วงทุกวันศุกร์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ มีผู้ถูกจับกุมกว่า 3 พันคน

อินโดนีเซียมีการประท้วงของนักศึกษาและเกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ เป็นเหตุให้มีผู้ตายกว่า 30 คน บาดเจ็บกว่า 300 คน มีผู้ถูกจับกุมกว่า 100 คน

Advertisement

เอกวาดอร์ อเมริกาใต้ ประท้วงดุเดือด หน่วยงานรัฐบาลต้องย้ายที่ทำการออกจากเมืองหลวง รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินและห้ามออกนอกบ้านในเวลากลางคืนเป็นเวลา 60 วัน

ฉากการต่อสู้บนถนนที่ “ฮ่องกง” ถูกนำไปฉายซ้ำที่เอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา

ดูประหนึ่งว่า บัดนี้ควันไฟรอบด้าน

Advertisement

การประท้วงดังกล่าว ย่อมมีเบื้องหลังที่แตกต่างกัน อาทิ

นักศึกษามหาวิทยาลัยอินโดนีเซียประท้วงรัฐบาลอันเกี่ยวกับกฎหมายที่พวกเขาถือว่าคือ “bad law” ซึ่งได้แก่ รักร่วมเพศ พฤติกรรมทางเพศนอกสมรส และหมิ่นหยามประธานาธิบดี

เหตุการณ์ที่อิรักคือโจมตีการปลด “อัศวินแห่งชาติ” ที่เป็นผู้นำต่อต้านผู้ก่อการร้าย

อียิปต์คือผู้รับเหมาชายนายหนึ่งได้ส่งคลิบผ่านโซเชียลมีเดีย โดยกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีและคู่สมรสใช้เงินของรัฐอย่างฟุ่มเฟือยและพร่ำเพรื่อ ซึ่งหมายความรวมถึงที่ทำเนียบประธานาธิบดี รีสอร์ต และโรงแรม อันเป็นปฐมเหตุแห่งการประท้วง เหตุการณ์ร้อนแรง

ส่วนความปั่นป่วนที่เอกวาดอร์ ดูผิวเผินก็คือ เกิดจากรัฐบาลยกเลิกเงินชดเชยราคาน้ำมัน แต่ความจริงปรากฏว่า ประธานาธิบดีเลนิน โมเรโน กับอดีตประธานาธิบดี ซึ่งเป็นกัลยาณมิตร เกิดการแตกคอและแยกกันเดิน จึงนำมาซึ่งการแบ่งขั้ว “ซ้าย” และ “ขวา” ทั้งนี้เกิดขึ้นเพราะประธานาธิบดีเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำอันเกี่ยวกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของ IMF

บรรดาประเทศที่เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ดูผิวเผินคือ ปัญหาการเมือง

แต่เมื่อเจาะลึกลงไป ล้วนมาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอก

หลังจากระบบการปกครอง “ซัดดัม ฮุสเซน” ถูกโค่นล้ม แต่ก็ยังไม่ปรากฎภาวะเศรษฐกิจของอิรักมีความเจริญก้าวหน้าให้เห็นเป็นประจักษ์ อัตราคนตกงานสูงถึง
ร้อยละ 25

หลังสงคราม แม้สถานการณ์อิรักปราศจากความมั่นคง แต่ชุมชนชีอะห์ (Shia) ทางตอนใต้ของประเทศกลับมีความสถิตเสถียร แต่คราวนี้เกิด “เผากันเอง”

และกลายเป็นจุดกำเนิดแห่งความปั่นป่วน ทำลายเสถียรภาพความมั่นคง

เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกของฝ่ายชีอะห์

กาลอดีตอิรักถือว่าเป็นตัวอย่างแห่งประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง

โดยมีสหรัฐเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง

แต่บัดนี้คนอิรักได้เลือกรัฐบาลที่โปรอิหร่านอย่างต่อเนื่อง

อันเป็นเหตุให้สหรัฐเกิดความระคายเคือง

การประท้วงรัฐบาลอิรักครั้งนี้ จะมองเป็นใครอื่นมิได้ นอกจากพวกโปรอิหร่าน

และกล่าวหาว่าเบื้องหลังต้องมีเงาของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การเข้าประจำการของทหารสหรัฐ นอกจากไม่สามารถนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแก่อิรัก กลับเป็นการทำลายเสถียรภาพความมั่นคงตอนใต้

ที่เรียกกันว่า “ตัวอย่างประชาธิปไตย” นั้น

บัดนี้ พังทลายลงแล้ว

ตั้งแต่ 2011 อียิปต์ได้ล้มล้างระบอบ Husni Mubarak เสถียรถาพยังไม่มีความมั่นคง หลังจากรัฐบาลทหารขึ้นปกครองบ้านเมือง แม้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ระดับ 1 แต่ความยากจนของประชาชนก็ยังดำรงอยู่ มีเพิ่มไม่มีลด

อินโดนีเซีย แม้สภาพเศรษฐกิจถือว่าพอไปได้ แต่ยังขาดความสมดุล ความเลื่อมล้ำในประเด็นความรวยความจนก็ยังดำรงอยู่

เหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นล้วนหลีกเลี่ยงไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับใด หากไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมที่พึงมีของสังคม

ก็ยากที่จะดำรงต่อไปได้

เหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นที่อียิปต์ อิรัก อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์

เป็นอุทาหรณ์สอนใจนักการเมืองสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา

ควรต้องสร้างความยุติธรรม ความเสมอภาคให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้องต้องมาเป็นอันดับ 1 ต้องไม่ลืมว่าหากท้องยังหิว

ความรักชาติเกิดขึ้นมิได้แน่นอน

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image