ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : การปฏิบัติธรรมก่อนพุทธกาล โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ภาพจิตรกรรมโบสถ์วัดบางระโหง นนทบุรี เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกบวชและทรงปลงพระเมาลี
ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดป่าเกด พระประแดงแสดงวิธุรบัณฑิตชาดก
การบำเพ็ญธรรมของใครยิ่งใหญ่กว่ากัน

ในยุคสมัยก่อนพุทธกาลเล็กน้อย การเสาะหาความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและหนทางพ้นทุกข์เริ่มแพร่หลายอย่างมาก พราหมณ์โบราณซึ่งสืบทอดการปฏิบัติทางจิตแบบชนพื้นเมืองทราวิฑมีบทบาทสูงขึ้นในขณะที่พราหมณ์พระเวทซึ่งเป็นเจ้าพิธีบวงสรวงและเกิดขึ้นภายหลังมีบทบาทที่จำกัดลง

ส่วนนักบวชที่ปฏิเสธทั้งพระเวทและการปฏิบัติทางจิตก็แตกไปทางวัตถุนิยมสุดขั้ว มีการสอนกามสุขัลลิกานุโยคให้เสพกามสุขก่อนในขณะที่ยังไม่ตาย บุญบาปถือเป็นเรื่องหลอกลวง

การบำเพ็ญบุญสมัยก่อนพุทธกาลก็มีทาน ศีลและภาวนา มีการอธิษฐานตั้งจิตปรารถนาและการปฏิบัติที่ต้องการหลุดพ้นจากทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิด

คำที่สำคัญจำนวนหนึ่งในพระพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว เช่น นิพพาน นิโรธ ตรัสรู้ สัพพัญญู อรหันต์ ญาณ อวิชชา อนัตตา โดยเข้าใจคำเหล่านี้แตกต่างกันไป ชาวพุทธส่วนหนึ่งเห็นว่ามีที่มาจากยุคของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนโดยมรรคนั้นได้หายสูญไปนานมากแล้ว หลงเหลืออยู่บ้างเฉพาะถ้อยคำพยัญชนะเท่านั้น

Advertisement

การปฏิบัติธรรมของสมณะดาบสเช่นฤๅษีและชฎิลเป็นจิตตภาวนาหรือการอบรมทางจิต ปริพาชกมีปรากฏอยู่บ้างในพระสูตรว่ามีการอบรมทางจิตด้วย ส่วนนักบวชเปลือยเช่นนิครนถ์ อาชีวกและอเจลกหันเหออกไปทางกายภาวนาอันเป็นการอบรมทางกาย

ดาบสอาศัยการเจริญฌานเพื่อความสงบทางจิตตั้งแต่ขั้นต้นไปจนถึงขั้นสูงเท่าที่จะสำเร็จได้ การเจริญฌานมีทั้งที่อาศัยการเพ่งรูปซึ่งเรียกว่ารูปฌานและการเพ่งอรูปที่เรียกว่าอรูปฌาน รูปฌานแบ่งออกเป็น 4 ขั้นและต่อด้วยอรูปฌานอีก 4 ขั้น ในสมัยนั้นมีความเชื่อกันว่าฌานแต่ละขั้นที่ตนสำเร็จนับเป็นนิพพานแล้ว

ในพระสูตรมีตัวอย่างนักบวชจำนวนมากที่สำเร็จฌาน ทั้งนี้ โดยอาศัยกสิณมิใช่อานาปานสติ พระพุทธองค์ทรงใช้อานาปานสติในการตรัสรู้ภายหลังจากที่ทรงระลึกถึงปฐมฌานเมื่อครั้งทรงเป็นราชกุมาร กลุ่มชฎิลกัสสปโคตรก็ชัดเจนว่าอาศัยกสิณไฟซึ่งเป็นรูปฌาน ส่วนพระอาจารย์ดาบสทั้งสองและกลุ่มพราหมณ์จำนวนหนึ่งปฏิบัติไปถึงอรูปฌานขั้นสูง

Advertisement

การปฏิบัติทางจิตของปริพาชกมีกล่าวถึงน้อยแต่คงมีทั้งที่เผยแพร่ความรู้และที่ปฏิบัติทางจิต พวกที่ไม่ปฏิบัติทางจิตและหันไปทรมานร่างกายก็กลายเป็นพวกอาชีวก-อเจลก ในพระสูตรปรากฏอยู่บ้างว่าปริพาชกบางกลุ่มปฏิบัติพรหมวิหารแบบฌานและมีการกล่าวถึงพระปิลินทวัจฉะว่าสมัยที่เป็นพราหมณ์ปริพาชกเคยฝึกวิชาบริกรรมคาถาชื่อจุลคันธาระจนได้อภิญญา

นิครนถ์ อาชีวกและอเจลกเป็นนักบวชที่เห็นการปฏิบัติทางกายเป็นการบำเพ็ญเพียรที่ถูกต้อง สละปัจจัยพื้นฐานทางโลกโดยอยู่กับความไม่เบียดเบียนใดๆ รวมทั้งสามารถอยู่กับความสกปรกตามธรรมชาติและอาหารที่เข้มงวด อาชีวกและอเจลกเป็นนักบวชชีเปลือยที่สุดโต่งกว่านิครนถ์ เจ้าลัทธิอาชีวกมักขลิโคศาลและปูรณกัสสปะเคยศึกษาจากนิครนถ์แต่ต่อมาคงหันไปทรมานร่างกายมากยิ่งขึ้น สัจจกนิครนถ์วิจารณ์การเปลือยว่าเป็นการทิ้งมารยาท

การอบรมทางกายของนักบวชเหล่านี้เป็นทุกกรกิจหรือทุกกรกิริยา จึงอาจกระทำได้ระยะหนึ่ง เมื่อร่างกายทรุดโทรม ทุกกรกิจก็สิ้นสุดลงและต้องกลับไปฟื้นฟูร่างกายใหม่ เช่น กลับไปลิ้มรสและบำรุงด้วยอาหารชั้นดีของปุถุชน พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่สัจจกนิครนถ์ว่าทุกกรกิจเป็นความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับกายภาวนา

นิครนถ์มีความมั่นใจว่าการปฏิบัติของตนถูกต้องสมบูรณ์แบบเพราะมีการอบรมทั้งทางกายและทางจิต การอบรมทางจิตของนิครนถ์นั้นเป็นการสืบทอดฌานมาจากพราหมณ์โบราณ ศาสนาเชนเรียกจิตตภาวนาของตนเป็นภาษาสันสกฤตว่าชญาณหรือญาณในภาษาบาลี ขั้นสูงสุดของชญาณคือเกวลญาณซึ่งถือเป็นญาณก่อนนิพพาน

ชญาณของเชนตรงกับคำว่าญาณที่เป็นอภิญญาญาณ นิครนถ์นาฏบุตรก็เรียกว่าญาณแต่ไม่เรียกฌานว่าสมาธิอย่างที่เชนเรียก ญาณในสมัยก่อนพุทธกาลจึงเป็นผลของฌานซึ่งยังไม่ใช่ปัญญาในพระพุทธศาสนา กล่าวคือเป็นการรับรู้ที่พิเศษกว่าปกติแต่ไม่ใช่ความเข้าใจของจิต ในการศึกษาวิธีปฏิบัติของเชนและโยคะซึ่งเขียนขึ้นภายหลังควรมีความรอบคอบในคำที่อาจซ้ำกันโดยพยัญชนะ

ประวัติฝ่ายเชนมีความขัดแย้งกับพระสูตรหลายประการ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือประวัติของมหาวีระที่เชนกล่าวไว้ว่ากำเนิดในตระกูลกษัตริย์ แต่ในพระสูตรพระเจ้าอชาตศัตรูเรียกนิครนถ์นาฏบุตรว่าอัคคิเวสสนะซึ่งเหมือนกับที่มีการเรียกสัจจกนิครนถ์ ทีฆนขปริพาชกและอจิรวตสมณุทเทส นาฏบุตรแปลว่าบุตรหรือสาวกของพวกรำบูชาไฟจึงไม่น่าเกิดในวรรณะกษัตริย์ อาจารย์สมิทธิพล เนตรนิมิตแห่งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยบอกว่าทางมารดามาจากวงศ์กษัตริย์ที่ใกล้ชิดกับวงศ์ของพระพุทธมารดา

พระไตรปิฎกมีเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมาก นิครนถ์นาฏบุตรเคยบอกว่าตนมีความคล่องแคล่วตั้งแต่ปฐมฌานถึงฌานขั้นสี่ เราอาจประมาณได้ว่านิครนถ์นาฏบุตรอาศัยกสิณรูป การละสุขและมีอุเบกขาในฌานอาจทำให้เห็นว่าเป็นการบรรลุแล้ว สัจจกนิครนถ์เคยสนทนากับนิครนถ์นาฏบุตรและเห็นว่ายังมิใช่ผู้รู้แจ้งจริง

ก่อนตรัสรู้พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติถึงขั้นสูงสุดมาแล้วทั้งด้านกายภาวนาและจิตตภาวนา ทรงศึกษาการเจริญฌานขั้นเจ็ดและแปดจากพระอาจารย์ดาบสทั้งสองและสำเร็จฌานขั้นสูงสุดแล้วก็ทรงมั่นใจว่ายังมิได้พบกับภาวะแห่งความหลุดพ้น จึงทรงหันไปปฏิบัติทางกายในระดับที่ไม่สามารถทรมานร่างกายไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว ความอุกฤษฏ์นั้นก็มิใช่หนทาง

พระพุทธองค์ทรงพบว่าทั้งสองแนวทางมิใช่ทางที่ถูกต้อง การเจริญฌานแบบดั้งเดิมเป็นความเข้าใจผิดเพราะเป็นการบำเพ็ญธรรมที่เข้าหาอัตตาและยังไม่สลัดออกซึ่งกิเลศ ส่วนการควบคุมกายหรือทุกกรกิจเป็นการเดินทางที่ไม่มีประโยชน์และเพิ่มความทุกข์มากกว่าที่จะสลัดทุกข์

แนวทางทั้งของดาบสและนักบวชเปลือยล้วนเป็นทางสายตึงที่เรียกว่าอัตถกิลมถานุโยค เราอาจกล่าวได้ว่าการเจริญฌานจนสุดทางและการอบรมทรมานร่างกายไปจนสุดอีกทางหนึ่งเป็นเพียงความสุดโต่งของศีลภาวนาซึ่งไม่สามารถแก้ไขความสุดโต่งแบบกามสุขัลลิกานุโยคได้

การอบรมทางกายและจิตในสมัยก่อนพุทธกาลเป็นการปฏิบัติที่แยกกายและจิตออกจากกัน ไม่มีปัจจยาการ ในขณะที่ในทางพุทธนั้นกายและจิตมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การปฏิบัติเป็นทางสายกลางที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มิได้ยึดจิตอย่างเดียวเหมือนลัทธิจิตนิยม ไม่ยึดกายอย่างเดียวเหมือนลัทธิวัตถุนิยมและไม่ปฏิบัติทั้งสองอย่างแบบลัทธิทวินิยม

ฌานเป็นเรื่องทางจิตที่เข้าใจยากและต้องอาศัยการปฏิบัติเช่นกัน พระสูตรมีปรากฏเรื่องฌานเป็นแนวทางอยู่สั้นๆ อย่างไรก็ตาม เราควรแยกฌานของพราหมณ์โบราณออกจากฌานที่พระพุทธองค์ทรงใช้ในการตรัสรู้และที่ทรงสอนพระภิกษุสาวก

ดาบสเป็นพราหมณ์โบราณที่เชี่ยวชาญในจิตตภาวนา การเจริญรูปฌานช่วยให้จิตเกาะรูปจนจิตสงบ เมื่อเจริญอรูปฌานต่อ จิตก็จะออกจากการเกาะรูปมาเกาะที่อรูปแทน ทั้งหมดเพื่อเข้าถึงอาตมันจักรวาล (ปรมาตมัน) ถ้าเป็นพราหมณ์ที่เชื่อพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดก็จะมุ่งไปอยู่ร่วมกับพระผู้เป็นเจ้า (พรหมัน)

การเพ่งรูปจะมีอาการที่เรียกว่าองค์ฌาน เมื่อจิตเดินสู่ความสงบ องค์ฌานจะลดจำนวนลงซึ่งบ่งบอกถึงขั้นของฌานด้วยว่าละเอียดประณีตเพียงใด พราหมณ์โบราณแบ่งขั้นของรูปฌานทั้งสี่ตามจำนวนองค์ฌานซึ่งมีทั้งหมด 5 องค์ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุขและเอกัคคตา

ผู้ปฏิบัติต้องมีสมาธิระดับหนึ่งจึงเกิดฌานขั้นต้นหรือปฐมฌาน การหมั่นเจริญฌานจะทำให้เกิดความคล่องแคล่วและจิตสงบได้ลึก เมื่อองค์ฌานไม่ปรากฏแล้วเหลือเพียงอาการที่สงบอยู่ในอารมณ์เดียวหรือเอกัคคตาก็บรรลุฌานสี่ ถ้าหากต้องการให้สงบละเอียดยิ่งขึ้นก็เจริญอรูปฌานต่อ

การเจริญอรูปฌานเป็นการเพ่งอรูปสัญญาแล้วละสัญญาทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาในระหว่างการปฏิบัติ สัญญานี้คือเครื่องหมายที่จิตจำได้ ฌานขั้นห้า (อากาสานัญจายตนะ) เป็นการเพ่งช่องว่าง (วงอากาศ) หรืออาจจะเพ่งกลุ่มอากาศในฌานซึ่งยังไม่ใช่อรูปแท้ ขั้นนี้ยังอาศัยวิตก-วิจาร จากนั้นจึงสลัดกสิณนั้นแล้วเพ่งจิตหรือวิญญาณและความไม่มีของวิญญาณต่อไป การเข้าถึงความสงบขั้นสูงสุดต้องละสัญญาจนละเอียดเหมือนไม่มีสัญญาปรากฏ (เนวสัญญานาสัญญายตนะ)

การปฏิบัติจากรอยต่อของรูปฌานไปอรูปฌานนับว่ายากเพราะต้องทิ้งกสิณเดิม (ยกเว้นเพ่งช่องว่างหรืออากาสกสิณมาตั้งแต่ต้น) อานาปานสติอย่างพุทธเป็นอรูปกรรมฐานที่เข้าถึงฌานขั้นห้าได้ง่ายกว่า

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี กล่าวว่า รูปฌานและอรูปฌานแตกต่างกันเล็กน้อยและท้ายสุดก็อยู่กับเอกัคคตาคล้ายกัน

จิตตภาวนาแบบโบราณทำให้เราได้ความรู้เรื่องจิตในสมัยก่อนพุทธกาลซึ่งเชื่อว่าจิตเป็นดวงวิญญาณที่ยังไม่บริสุทธิ์หรือยังมีมายา บ้างเชื่อว่าเป็นเจตภูตหรือตัววิญญาณที่สถิตอยู่ในกาย สัญญาเป็นความจำที่บ่งถึงความไม่สงบ วิตกและวิจารเป็นการนึกคิดและการประคองอยู่ในความนึกคิดนั้น โดยยังไม่มีความรู้เรื่องสังขารและเวทนาในทางจิต

พราหมณ์โบราณใช้ประโยชน์จากวิตก วิจาร รูปสัญญาและอรูปสัญญาในการปฏิบัติให้จิตเกาะสิ่งเหล่านี้แล้วละให้เข้าสู่ความสงบ การปฏิบัติเป็นไปเพื่อบุญกุศลแต่ผิดทาง ขั้นสูงสุดเป็นเพียงการละสัญญาอันละเอียด อุเบกขาที่เกิดในฌานเป็นการวางเฉยของจิต ผู้ปฏิบัตินั้นยังไม่หลุดจากฌานสุข เมื่อฌานสุขเสื่อมไปก็จะต้องการฌานสุขให้เกิดขึ้น จึงยังไม่หลุดพ้นจากทุกข์

นั่นคือการปฏิบัติเป็นการเดินมรรคเข้าหาอัตตาที่ละเอียด มิใช่การถอยห่างออกจากอัตตา

ในทางพระพุทธศาสนา เวทนา สัญญาและสังขารเป็นอาการของจิตที่จะยังแนบแน่นกับกิเลส วิญญาณมีสิ่งที่มีอิทธิพลอยู่ภายในและมีการรับรู้ผ่านการสัมผัสของอายตนะ มิได้เป็นดวงวิญญาณหรือกายทิพย์ พราหมณ์โบราณละอาการทางจิตให้สงบได้ชั่วคราว

จึงเปรียบเสมือน “หินทับหญ้า” เมื่อเผชิญกับภาวะทั่วไปซึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความสงบต้องเสื่อมไป ความไม่สงบก็กลับมาอีก

จิตสำนึกและจิตนอกสำนึกล้วนมีการทำงานและได้รับอิทธิพลจากความไม่บริสุทธิ์ภายในจิต อวิชชา ตัณหาและอุปาทานเป็นตัวขับเคลื่อนที่สร้างทุกข์ให้เกิดขึ้น การปฏิบัติธรรมนอกพระพุทธศาสนาไม่อาจหยุดปมกิเลสเหล่านั้น

ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงจึงเปิดโลกให้ผู้ที่สอนได้ทั้งหลายมีโอกาสปฏิบัติและเข้าถึงการพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image