‘จุรินทร์’ ปลื้มบึงกาฬ พัฒนาตามนโยบาย รบ. เล็งดัน ‘ยางพารา’บุกตลาดอินเดีย

‘จุรินทร์’ ปลื้มบึงกาฬ พัฒนาตามนโยบาย รบ. เล็งดัน ‘ยางพารา’บุกตลาดอินเดีย

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางลงพื้นที่ตรวจดูโรงงานหมอน ของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ณ โรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬ บ้านตาลเดี่ยว ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ โดยมีนายสนิท ขาวสะอาด ผู้ว่าราชการตังหวัดบึงกาฬ นายนิพนธ์ คนขยัน นายกอบจ. บึงกาฬ กล่าวต้อนรับ พร้อมสมาชิกชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬ และเกษตรกรที่มารอรับกว่า 300 คน

นายสนิท กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามลำแม่น้ำโขงยาว 120 กิโลเมตร ประกอบด้วย 8 อำเภอ มีพื้นที่ 4,305 ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร 751 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ มีด่านถาวร ไทย – ลาว (บึงกาฬ – ปากซัน) ที่เปิดบริการขนส่งสินค้าเข้า – ออกระหว่างประเทศ มีมูลค่าการค้าชายแดนรวมในปี พ.ศ. 2562 จำนวน 3,277.02 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) มูลค่า 27,167 ล้านบาท รายได้ประชากร 78,022 บาท ต่อคนต่อปี เป็นลำดับที่ 56 ของประเทศ โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ คือ ยางพารา มีพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 847,095 ไร่ เป็นอันดับที่ 1 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ

นายสนิท กล่าวต่อว่า สำหรับโรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬแห่งนี้ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ งบประมาณรวมการก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร 46,400,000.- บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2562 ปัจจุบันมีสมาชิก 13 สหกรณ์ มีเป้าหมายกำลังการผลิตหมอนยางพารา 2,000 ใบต่อวัน

“จังหวัดบึงกาฬ มีแผนพัฒนาจังหวัด ปี พ.ศ. 2561 – 2565 เป็นเมืองยางพาราก้าวหน้า เชื่อมโยงการค้าอินโดจีน พัฒนาเกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวธรรมชาติวิถีอารยธรรมลุ่มน้ำโขง มีจุดเน้นหนักการพัฒนา 3 ด้าน คือ 1.ศูนย์กลางการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราด้วยนวัตกรรม โดยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราของบึงกาฬไปสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราด้านต่าง ๆ 2.เมืองส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อการค้าและการลงทุน และ 3.การท่องเที่ยววิถีชีวิตวัฒนธรรมริมแม่น้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาจังหวัดในอนาคต ตามนโยบายรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามแนวทาง 3 สร้าง คือ การสร้างเมือง การสร้างคน และการสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน เพื่อให้เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนของประเทศ” นายสนิทกล่าว

Advertisement

ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬมีพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ คือ ยางพารา โดยมีพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 847,095 ไร่ เป็นอันดับที่ 1 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ ถือว่าจังหวัดบึงกาฬเป็นศูนย์กลางยางพาราของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างแท้จริง ตนขอแสดงความชื่นชมยินดีที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดบึงกาฬ ได้พยายามขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากที่สุด มีการผลักดัน ให้เกิดการพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะด้านองค์ความรู้ที่จะพัฒนาด้านนวัตกรรม การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งการนำไปผลิตหมอน ที่นอน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากยางพารา ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการขายน้ำยางสด และยางก้อนถ้วย
ตนในฐานะของตัวแทนรัฐบาล ขอส่งเสริม สนับสนุน และให้กำลังใจทุกฝ่าย ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ร่วมกันพัฒนาจังหวัดบึงกาฬให้มีความเจริญเติบโต เศรษฐกิจก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประเทศชาติและประชาชนตลอดไป

“ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ยังได้นำคณะเดินทางไปหลายประเทศเพื่อนำยางพาราออกไปจำหน่าย อย่างอินเดีย ตุรกี เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์จะต้องมาทำหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกบทบาทหนึ่ง ทูตพาณิชย์ที่อยู่ต่างประเทศจะต้องปรับบทบาทนอกจากไปทำเรื่องการเจรจา การค้า กฎเกณฑ์ และต้องทำการส่งเสริมการขาย โดยการเป็นเซลแมน ต้องสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วย ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่นี้ด้วย ต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเซลแมนส่วนต่างประเทศ สินค้าอุตสาหกรรม ไฟฟ้า พัดลม ตู้เย็น เคมีภัณฑ์ แต่ต่อไปนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องนำพืชผลการเกษตร ข้าวมันสับปะหลัง ยางพารา และพืชผลทางการเกษตรกรอื่นๆไปขายในต่างประเทศด้วย โดยการจับกับภาคเอกชน” นายจุรินทร์กล่าว

Advertisement

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า จากการที่เราปรับบทบาทของเราเป็นโฟร์แมนประเทศไทย ไปขายยางพารา จนสามารถขายหมอนได้ 20 ล้านใบ แบ่งให้ การยางแห่งประเทศไทยขาย 10 ล้านใบ ภาคเอกชนอีก 10 ล้านใบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆอีกรวมกว่า 9 พันล้านบาท ต้นเดือนหน้าตนจะพาภาคเอกชนไปอีกรอบนึง เพราะเพิ่งไปดูอินเดียกำลังต้องการไม้ยางพารามาก เพราะเขากำลังส่งเสริมเร่งรัดการสร้างบ้านใหม่ให้คนจนได้มีที่อยู่อาศัย คนอินเดียมีอยู่พันกว่าล้านคน มีการขยายตัวด้านการก่อสร้างเฟอร์นิเจอร์เป็นจำนวนมาก
สำหรับการไปบุกเบิกตลาดอินเดีย ตนก็คุยกับนายกสมาคมไม้ยางแห่งประเทศไทยแล้ว ว่าอาทิตย์หน้าจะพามาไปเผยแพร่ และหวังว่าเราจะขายได้เยอะและมีอนาคต

“เวลาท่านตัดยางเสร็จถึงเวลาโค่นยางมา เกษตรกรก็จะมีมูลค่าเพิ่ม สำคัญกว่านั้นอีกในไม่กี่วันนี้ เราจะลงนามเซ็นสัญญาขายยางให้ฮ่องกงกับจีน 260,000 ตัน อีกหลายหมื่นล้านบาท สุดท้ายขอชื่นชมกับชุมนุมสหกรณ์ที่คิดริเริ่มแปรรูปยางพาราอย่างเป็นระบบ และขอรับรองว่าหมอนที่จะขายให้อินเดีย ที่รับผิดชอบโดยการยางแห่งประเทศไทยจำนวน 10 ล้านใบนั้น จะมีชื่อชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬแห่งนี้ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image