‘สุรางคณา’โบกมือลาเอ็ตด้า ลุยบ.สตาร์ตอัพดันไทยโต

สุรางคณา วายุภาพ

‘สุรางคณา’โบกมือลาเอ็ตด้า ลุยบ.สตาร์ตอัพดันไทยโต

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) หรือเอ็ตด้า หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการเอ็ตด้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หลังจากที่ทำงานในองค์กรดังกล่าวมาเป็นเวลา 9 ปี พร้อมด้วย น.ส.จิตใส เก่งสาริกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และนายสรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการ

นางสุรางคณา กล่าวว่า แม้จะไม่ได้เป็นผู้อำนวยการที่เอ็ตด้าแล้ว แต่เชื่อว่า ได้วางวัฒนธรรมองค์กรไว้อย่างมั่นคงแล้ว องค์กรจะยังไม่เปลี่ยนแปลงและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งนับตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งมาเมื่อปี 2554 จากองค์กรตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) สู่องค์กรตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในปี 2562 กับการเดินทางมาถึงปีที่ 9 และก้าวต่อไปในปีที่ 10 ที่จะเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง การทำงาน และโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเรื่องบล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) แมชีนเลิร์นนิง รวมทั้งเรื่องบิ๊กดาต้า

“งานทั้งหมดจะเร่งสปีดไม่ได้เลย หากขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างเรื่องกฎหมาย ซึ่งการมีทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และ พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2562 ทำให้บทบาทของเอ็ตด้า ชัดเจนขึ้น สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของประเทศ ” นางสุรางคณา กล่าว

Advertisement

นางสุรางคณา กล่าวว่า จากนี้จะจัดตั้งบริษัทใหม่ ในชื่อบริษัท บีเทค เทคคอมพานี จำกัด โดยมีแผนจะเปิดตัวในวันที่ 8 มกราคม 2563 โดยตั้งใจให้เป็นบริษัทสตาร์ตอัพ บริษัทแรกของเมืองไทยที่เป็นยูนิคอร์น เนื่องจากรูปแบบของบริษัทนั้นจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมการทำงานสตาร์ตอัพแบบเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่า สตาร์ตอัพในเมืองไทย ยังคงเป็นเพียงแค่ซอฟต์แวร์เฮาส์ ไม่ใช่เทคคอมพานี ดังนั้น จึงไม่สามารถสร้างลิขสิทธิ์และต่อยอดได้ จึงมักจะเห็นว่า สตาร์ตอัพเมืองไทยมักเป็นเพียงแค่การทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ เพื่อขายบริษัททิ้งให้บริษัทรายใหญ่ หรือต่างชาติ อยู่เสมอ

“สาเหตุที่สตาร์ตอัพของไทยไม่เติบโตและแข่งขันกับต่างชาติไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่มีนายทุน ซึ่งนายทุนคนไทยมีจำนวนมากที่พร้อมจะลงทุนกับสตาร์ตอัพ แต่เนื่องจากยังไม่เห็นความต่างที่จะต่อยอดได้ ดังนั้น สตาร์ตอัพของเราจะเป็นทีมที่ทำงานกับทีมต่างๆ เบื้องต้นจะมีประมาณ 10 ทีม ซึ่งเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน อาทิ บล็อกเชน, การทำบัญชี และการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อทำหน้าที่ในการซื้อสตาร์ตอัพที่น่าสนใจและต่อยอดเป็นลิขสิทธิ์ต่อไปได้ โดยที่เจ้าของผลงานมีสิทธิ์เป็นผู้บริหารร่วม เพื่อให้มีจุดโฟกัสในการทำงานต่อเนื่อง และเมื่อบริษัทมีกลุ่มสตาร์ตอัพที่รวมตัวกัน ก็จะทำให้สามารถบริหารจัดการด้านสิทธิประโยชน์และภาษีได้ เพื่อลดข้อด้อยของกฎหมายไทยที่ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ดังกล่าวได้ ทำให้สตาร์ตอัพต้องไปจดทะเบียนที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี”นางสุรางคณากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image