ฝันไกลแต่ไปไม่ถึง Gen Y วัยสร้างหนี้ เพราะ #ของมันต้องมี

ฝันไกลแต่ไปไม่ถึง Gen Y วัยสร้างหนี้ เพราะ #ของมันต้องมี

เป็นที่น่าสังเกตว่าแทบจะทั่วโลกนั้น มีการบรรจุหลักสูตรวิชาการในระบบการศึกษาหลัก เพื่อสอนให้ทุกคนจบการศึกษามาเพื่อใช้ความรู้หางานทำ หาเงินเลี้ยงดูตัวเอง แต่มีจำนวนน้อยที่สอนถึง “วิธีการบริหารเงินที่ถูกต้อง” ทำให้บรรดานักศึกษาจบใหม่ หรือผู้ที่เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ ประสบกับสภาพการณ์ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงอายุ 23-30 ปี หรือที่เรียกว่าเป็นคน “เจนวาย” (GEN Y)

เพราะพฤติกรรมการเงิน หากมีวินัยและบริหารจัดการเงินได้ดีตั้งแต่เริ่มต้นก็ดีไป แต่หากติดลบตั้งแต่ต้นก็อาจจะกลายเป็นปัญหาในภายหลังได้

ธนาคารทหารไทย (TMB) จึงร่วมมือกับ ไวซ์ไซท์ (WISESIGHT) จัดแถลงข่าว “ล้วงลึกพฤติกรรมการเงิน เจนวาย ผ่านแคมเปญ ของมันต้องมีก่อน 40” ณ ห้องมิชชั่น พอสสิเบิล ชั้น 7 ธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ (จตุจักร) โดยมีการพูดคุยในหัวข้อที่น่าสนใจหลายประการ

กาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี เผยว่า เหตุผลที่เลือกศึกษาพฤติกรรมและเก็บข้อมูลกลุ่มคน “เจนวาย” (GEN Y) ที่มีช่วงอายุระหว่าง 23-30 ปี เพราะเป็นกลุ่มกำลังแรงงานสำคัญของประเทศ เริ่มทำงานมีรายได้ แต่ไม่มีการวางแผนทางด้านการเงิน ไม่สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม

Advertisement

ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่พร้อมเปิดรับคำแนะนำ และความรู้ทางด้านการบริหารจัดการเงิน จึงมีความเชื่อว่าหากเจนวายได้ตระหนักถึงเป้าหมายในชีวิตแล้ว จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนพฤติกรรมทางการใช้จ่าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายคนตั้งเป้าหมายที่จะได้เริ่มต้นสิ่งดีๆ ในปีถัดไป

ด้าน นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลสำรวจพฤติกรรมของเจนวายบนโลกโซเชียลว่า ความหวังหรือเป้าหมาย “ของมันต้องมี” ก่อนอายุ 40 ของเจนวายคือ อยากมีบ้าน (48%) รถยนต์ (22%) ขณะที่อยากมีเงินออมและสินทรัพย์อื่นๆ มีไม่มาก (13%) แต่สิ่งที่ “เกิดขึ้นจริง” กับเจนวาย เมื่อวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษา พบว่ามียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า “ของมันต้องมี” ถึง 69% ขณะที่รายการซื้อบ้าน ซื้อรถที่เป็นความฝันมีสัดส่วนที่ลดลงมาก ทั้งยังมีสัดส่วนเงินออมไม่ถึง 10%

นริศ สถาผลเดชา
นริศ สถาผลเดชา

เฉลี่ยแล้วเจนวาย หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละเกือบแสน คิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการซื้อโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า และนาฬิกา/เครื่องประดับ ส่วนที่มาของ “ของมันต้องมี” มาจากหลายปัจจัย อาทิ บริโภคนิยม ตัดสินใจซื้อแบบไม่ต้องคิด และความสุขซื้อได้ด้วยประสบการณ์

Advertisement

นอกจากนี้ เจนวายยังมีพฤติกรรมซื้อตามเทรนด์เพราะกลัวเอ้าท์ถึง 42% มากกว่ามองเป็นของจำเป็น 37% แถมเงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่ 70% บอกมีเงินไม่พอ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อลงรายละเอียดพบว่ามากกว่า 70% ของเจนวาย มีการ “ผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย”

ทำให้หลายคนเข้าสู่ “วงจรนรก” หรือกล่าวคือรายรับมีไว้เพื่อชำระหนี้ของเดือนที่ผ่านมา เมื่อไม่มีเงินจึงนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่างๆ

หากผ่าโครงสร้างทางการเงินของเจนวาย สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่ “ของมันต้องได้ แต่เงินไม่มี” มักมีพฤติกรรมการใช้เงินก่อนออม เมื่อมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน จะนำไปชำระหนี้และซื้อของอุปโภคบริโภคก่อน (60%) ส่วนที่เหลือค่อยเก็บเป็นเงินออม อีกทั้งมักเก็บเงินผิดที่ คือมีเงินกองอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปในสัดส่วนที่สูง

ขณะที่กลุ่มเจนวาย “ของมันต้องมี และเก็บเงินได้” ก็จะมีพฤติกรรมที่ตรงข้าม กล่าวคือกลุ่มนี้พอมีรายได้เข้ามา ก็จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเงินออมเป็นสัดส่วนที่สูง (33%) ก่อนที่จะใช้จ่าย หรือพูดได้ว่าเป็นเจนวาย ที่มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังมีการวางแผนการออมและการลงทุน สะท้อนจากการมีเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง และลงทุนในหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่นๆ รวมแล้วเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

กระนั้น จากหลายปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เจนวาย มีลักษณะเข้าทำนอง “ฝันไกลแต่ไปไม่ถึง” สะท้อนจากเจนวาย วัยเริ่มต้นทำงานตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่วางแผนที่จะออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย

ฉะนั้นเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน สิ่งแรกที่ควรทำคือ ลดเงินที่ใช้กับ “ของมันต้องมี” ง่ายๆ โดยลดลงแค่ 50% ด้วยเชื่อว่าลดหมด 100% เป็นไปได้ยาก ควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ แค่นี้ก็จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้นราวๆ 43,000 บาทต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือยาวไป 30 ปีก็จะสามารถซื้อทรัพย์สินตามที่เคยตั้งความหวังไว้ได้ไม่ยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image