‘กสทช.’ ลดค่าธรรมเนียมยูโซ่ ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติปรับลดอัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) หรือยูโซ่ฟรี สำหรับผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลและผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงเป็นแบบขั้นบันได ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 รายได้ 0-100 ล้านบาทแรก อัตราเก็บ 0.125%, ขั้นที่ 2 รายได้ต่อปีเกิน 100-500 ล้านบาท อัตราเก็บ 0.25%, ขั้นที่ 3 รายได้ต่อปีเกิน 500-1,000 ล้านบาท อัตราเก็บ 0.50%, ขั้นที่ 4 รายได้ต่อปีเกิน 1,000-10,000 ล้านบาท อัตราเก็บ 0.75%, ขั้นที่ 5 รายได้ต่อปีเกิน 10,000-25,000 ล้านบาท อัตราเก็บ 1.00%, ขั้นที่ 6 รายได้ต่อปีเกิน 25,000-50,000 ล้านบาท อัตราเก็บ 1.25% และขั้นที่ 7 รายได้ต่อปีที่เกิน 50,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราเก็บ 1.50%

จากอัตราเดิมที่เคยเรียกเก็บในอัตรา ขั้นที่ 1 รายได้ต่อปี 0-5 ล้านบาทแรก อัตราเก็บ 0.50%, ขั้นที่ 2 รายได้ต่อปีส่วนที่เกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทแรก อัตราเก็บ 0.75%, ขั้นที่ 3 รายได้ต่อปีส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราเก็บ 1.00%, ขั้นที่ 4 รายได้ต่อปีส่วนที่เกินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราเก็บ 1.75% และขั้นที่ 5 รายได้ส่วนที่เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราเก็บ 2.00%

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.)

ทั้งนี้ อัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนแบบขั้นบันไดดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงินรายปีเข้ากองทุน กทปส. ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) และผนวกอัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุน ซึ่งให้ใช้อัตราเดียวกับอัตราตามภาคผนวกของประกาศ กสทช. เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 3) ตามที่ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติอนุมัติ และให้นำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

“จากการศึกษาของสำนักงาน กสทช. พบว่า อัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน กทปส. (ยูโซ่ฟรี) ใหม่ที่จะประกาศใช้สำหรับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์นี้ ในภาพรวมจะเป็นการลดภาระการนำส่งเงินเข้ากองทุน ของผู้ประกอบการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลงจากเดิมประมาณ 2 ใน 3 และนี่เป็นอีกหนึ่งในแนวทางที่ กสทช. จะช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล” นายฐากร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image