‘กสทช.’ ไฟเขียว ศธ. ทำช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา หนุนการเรียนช่วงโควิด
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช.วาระพิเศษได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชนและครอบครัว อันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจทัลเพื่อการศึกษา จำนวน 17 ช่อง แบ่งเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 15 ช่อง เป็นของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 1 ช่อง และเป็นของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 1 ช่อง โดยให้ออกอากาศแบบความคมชัดปกติ (เอสดี)
สำหรับคลื่นความถี่ที่ใช้ให้ใช้คลื่นความในกิจการโทรทัศน์เพื่อเป็นการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราวผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับชาติ ของกรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก โดยให้ใช้ความถี่วิทยุที่ได้รับอนุญาตสำหรับการทดสอบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป หรือถ้าสามารถกลับมาดำเนินการสอนได้ตามปกติก็ให้หยุดทดลองออกอากาศ
นายฐากร กล่าวว่า ในส่วนของการยกเว้นค่าพิจารณาคำขออนุญาต ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และเงินประกันความเสียหายที่อาจเกิดกับบุคคลอื่นให้ดูแลให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และให้แจ้งกระทรวงศึกษาธิการให้ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว รวมทั้งประกาศ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด สำหรับการเรียงช่องที่ประชุม กสทช. มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการศึกษาโดยมอบหลักการว่าการเรียงช่องทั้ง 17 ช่องเรียงลำดับกันไปเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับชมช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษาของเด็กนักเรียน เยาวชน และนักศึกษา
“กสทช. เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ของเด็กและเยาวชน และรู้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนตามปกติ รัฐบาลจำเป็นต้องให้เด็กนักเรียน นักศึกษา หยุดอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเป็นการป้องกันไม่ให้เด็ก เยาวชนได้รับความเสี่ยงจากการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้กระทรวงศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ได้ กสทช. จึงได้อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการทดลองจัดการเรียนการสอนระบบทางไกลผ่านทางช่องทีวีดิจิทัลจำนวน 17 ช่องได้” นายฐากร กล่าว