กขค.ทำไกด์ไลน์แข่งขันเป็นธรรม คุ้มครองเกษตรกรจากล้ง

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และโฆษกคณะกรรมการเปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางการพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือลดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้รับซื้อผลไม้ (ล้ง) ซึ่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)ได้เห็นชอบให้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป

สำหรับร่างแนวปฏิบัติทางการค้าในธุรกิจรับซื้อผลไม้ ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นฉบับนี้ มีประเด็นและสาระสำคัญ ได้แก่ 1. การกำหนดเงื่อนไข หรือละเว้นการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การไม่ระบุวันหรือช่วงเวลาในการเข้าเก็บผลไม้ รวมทั้ง ไม่ระบุวันสิ้นสุดของสัญญาทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายผลไม้ให้ผู้ซื้อรายอื่นได้ เป็นต้น
2. การปรับลดราคารับซื้อ หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นใด ทั้งทางตรงและทางอ้อมภายหลังการทำสัญญา
ซึ่งส่งผลต่อการปรับลดราคารับซื้ออย่างไม่เป็นธรรม
3. การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การชะลอการเข้าเก็บผลไม้ การเก็บผลไม้ครบตามจำนวน
ที่ตกลงไว้ในสัญญา เป็นต้น
4. การปฏิบัติทางการค้าเพื่อผูกขาดหรือลดการแข่งขัน หรือ จำกัดการแข่งขันในตลาดเดียวกัน
เช่น การร่วมกันกำหนดราคาซื้อ หรือจำกัดปริมาณซื้อ การร่วมกันแบ่งท้องที่ในการรับซื้อ เป็นต้น
โดยนายสันติชัยฯ ได้กล่าวอีกว่า กขค. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า

เพื่อคุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมในการจำหน่ายผลผลิต โดยเบื้องต้นจะเริ่มจากธุรกิจการรับซื้อผลไม้ก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มเกษตกรผู้ปลูกผลไม้ได้ร้องรียนว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้รับซื้อผลไม้ (ล้ง) เป็นประจำ จึงได้พิจารณาจัดทำร่างประกาศดังกล่าวขึ้นมากำกับดูแลให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร โดยอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ และกลุ่มรับซื้อผลไม้ (ล้ง)

ทั้งนี้ ได้เปิดให้มีการรับฟังความเห็น ทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th เป็นระยะเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม ถึง วันที่ 6 มิถุนายน 2563 หลังจากครบกำหนดแล้ว จะประมวลความคิดเห็นที่ได้ทั้งหมดมาพิจารณาปรับปรุงอีกครั้งหนึ่งก่อนประกาศบังคับใช้ ซึ่งเชื่อว่าแนวปฏิบัติทางการค้าในธุรกิจรับซื้อผลไม้จะสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ชัดเจน ถูกต้อง อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานทางการค้าระหว่างเกษตรผู้ปลูกผลไม้กับผู้รับซื้อผลไม้ (ล้ง) ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image