แพทย์ผิวหนังแนะ สร้างภูมิคุ้มกันแบบไม่ลดการ์ด “ทฤษฎีสวนหมัด” หลังการระบาดโรคโควิด-19

แพทย์ผิวหนังแนะ สร้างภูมิคุ้มกันแบบไม่ลดการ์ด “ทฤษฎีสวนหมัด” หลังการระบาดโรคโควิด-19

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 จะอยู่กับสังคมชาวโลกไปเรื่อยๆ อยู่เงียบๆ รอจังหวะ เพราะเรายังไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคนี้ให้หมดไปได้ นั่นหมายความว่าเรายังต้องสวมเครื่องป้องกันร่างกายให้เหมาะสม รักษาระยะห่างทางสังคมไว้และหมั่นล้างมือ นอกจากนี้การลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อให้น้อยลงและยังช่วยป้องกันตัวเองจากโรคโควิด 19 ได้ คือการสร้างเกราะภายในร่างกายของเราที่เรียกว่า “ระบบภูมิคุ้มกัน” ให้แข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลา

ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า โดยภาพรวมภูมิคุ้มกันของเราได้รับการออกแบบมายอดเยี่ยมมากในการป้องกันเชื้อโรคและอันตรายจากภายนอก แต่บางครั้งระบบนี้ก็มีจุดอ่อน เพราะร่างกายไม่มีประสบการณ์เมื่อเจอโรคใหม่ๆ อย่างไรก็ตามระบบภายในร่างกายมนุษย์ยังมีศักยภาพในการ “สวนหมัด” เพื่อสู้กับอะไรก็ตามที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มาดูกันว่าเราจะสร้างหมัดของเราให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเอาตัวรอดได้อย่างไร ทางกรมการแพทย์ จึงขอแนะนำการปฏิบัติตนสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อคงสภาพการมีสุขภาพที่ดีให้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ และลดความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 ได้แก่ 1.อาหาร ถูกหลักโภชนาการ สะอาดและมีองค์ประกอบของสารอาหารสำคัญครบถ้วนแล้ว แต่ละมื้อต้องมีผักครึ่งหนึ่งอย่างอื่นครึ่งหนึ่ง รับประทานอาหารร้อนปรุงสุกใหม่ๆ และในยุคโควิด-19 เราต้องใช้ ช้อนกลางส่วนตัว และยังต้องล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร “กองทัพเดินด้วยท้องฉันใด ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ก็ต้องการอาหารดี มีคุณภาพฉันนั้น” ผู้ที่ขาดสารอาหารจะมีแนวโน้มติดเชื้อโรคได้ง่าย

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า 2.การนอนหลับพักผ่อน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีมาก ระหว่างการนอนหลับพักผ่อนเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายมีเวลาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และจัดการระบบภายในให้เข้าที่ เราควรนอนหลับให้สอดคล้องกับวงโคจรของพระอาทิตย์ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ร่างกายไม่ฝืนสภาพการทำงานของระบบภายใน เพราะร่างกายเราถูกสร้างมาให้เดินเครื่องตามพระอาทิตย์ และการหลับในตอนกลางคืน แปลว่าเราจะไม่ไปเที่ยวสถานที่กลางคืน โอกาสติดโรคโควิด-19 ย่อมลดลง 3.ออกกำลังกาย: ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความดันโลหิต ลดความเครียด การออกกำลังกายมีผลดีต่อสุขภาพและระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง ทำให้เกิดระบบไหลเวียนเลือดที่ดี เซลล์และสารต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันไหลเวียนไปทั่วร่างกาย แต่ควรเลือกออกกำลังกายในสถานที่เอื้อต่อการรักษาระยะห่างจากผู้อื่น หรือถ้าอยู่ในที่สาธารณะต้องรักษาระยะห่างจากบุคคลอื่น

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า 4.สถานที่เหมาะสม สถานที่ทำงาน สถานที่นอนหลับพักผ่อน ต้องมีอากาศสะอาด สถานที่ใดมีคนหมู่มากมารวมกัน จะมีคนต่างนิสัย ต่างความชอบ ต่างพฤติกรรม และมีปัญหาสุขภาพต่างกัน โดยภาพรวมคนหมู่มากจะแย่งอาหาร แย่งอากาศดีๆ กัน ทำให้เกิดฝุ่นควัน ละอองฝอย และแพร่เชื้อโรคแก่กันโดยไม่ได้ตั้งใจ 5.เลี่ยงการใช้สารเสพติด การไม่สูบบุหรี่และไม่ไปรับควันบุหรี่จากบุคคลอื่น เป็นการเตรียมปอดให้แข็งแรงไว้สู้เชื้อโรค หากใครติดบุหรี่อยู่แล้ว ให้ถือโอกาสนี้เริ่มถอน ตั้งใจให้มั่น ค่อยๆ ถอน เอาโรคโควิด-19 เป็นเครื่องเตือนใจ ทุกครั้งที่มองเห็นหน้ากากปิดปากให้ถือเป็นสิ่งเตือนใจว่า “เราต้องงดสิ่งเสพติดให้ได้” และ 6.รักษาจิตใจ : ปัจจุบันพบว่าจิตกับกายมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด อาการทางกายหลายเรื่องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอารมณ์เครียด เช่น อาการปวดท้อง ลมพิษ หรือโรคหัวใจ โดยภาพรวมความเครียดทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image