พิษโควิด-19 สร้างความลังเลตั้งธุรกิจใหม่ พณ.ชี้ปีนี้อาจต่ำกว่า7หมื่นราย ถดถอยรอบ4ปี

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวน 4,195 ราย และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 9,672 ล้านบาท ธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด คือทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 74.76% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.86% โดยยอดรวม 5 เดือนของปี 2563 ธุรกิจจัดตั้งใหม่รวม 27,606 ราย ลดลง 15% มีทุนจดทะเบียน 89,814 ล้านบาท ลดลง 12%

นายวุฒิไกร กล่าวว่า ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวน 905 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 2,975 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศมากที่สุด คือ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 71.27% โดยยอดรวม 5 เดือน เลิกกิจการรวม 4,891 ราย ลดลง 10% ทุนจดทะเบียน 21,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22%

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจ้งว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และมีการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการตั้งธุรกิจใหม่ และรอดูสถานการณ์ แต่ยังมีบางธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนส่ง ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และมาอยู่อันดับ 3 แทนธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ดังนั้น การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตลอดปี 2563 น่าจะเหลือ 65,000 – 70,000 ราย จากเดิมประมาณการณ์ไว้ 70,000 – 75,000 ราย ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เทียบสถิติย้อนหลัง พบว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ประเมินว่าจำนวนตั้งบริษัทใหม่ทั้งปีจะต่ำกว่า 7 หมื่นราย เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 กระทบต่อการดำเนินธุรกิจและลงทุนใหม่ๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image