สำนักงานอัยการสูงสุดกับการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนด้วยข้อมูลข่าวสารและการกระทำ

รองรัฐ พุ่มคชา (ซ้าย) , วิพล กิติทัศนาสรชัย(ขวา) สำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด

พลันที่ข่าวคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ออกสู่สาธารณะ ประเด็นว่าด้วย “รัฐเปิด” (Open Government) ก็กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้งหนึ่ง โดยเกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีนี้ แท้จริงแล้ว เป็นการเพิ่มแสงไฟให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลการดำเนินการต่างๆของรัฐ หรือเป็นการดับไฟเพื่อปิดกั้นสิทธิในการได้รู้ (Right to Know) ของประชาชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สังคมไทยได้เรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์ในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ มาแล้วกว่า 20 ปี นับตั้งแต่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ฉบับแรกเริ่มใช้บังคับ สาเหตุที่ความกังวลดังกล่าวก่อตัวขึ้น เนื่องจาก ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดเพิ่มเติมข้อมูลข่าวสารที่กฎหมายห้ามเด็ดขาดมิให้เปิดเผย จากเดิมที่จำกัดเฉพาะกรณีข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (มาตรา 14) โดยให้รวมถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคง 5 ประเภทด้วย

เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิในการได้รู้ (Right to Know) ของประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างความโปร่งใสของภาครัฐ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในจำนวนไม่มากที่ประชาชนสามารถใช้ในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐและต่อต้านปัญหาการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนและทุกภาคส่วนจึงควรช่วยกันติดตาม กดดันสมาชิกรัฐสภาในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อมิให้เจตนารมณ์เมื่อแรกเริ่มประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ในปี พ.ศ. 2540 ต้องแปรผันไป

ในโอกาสที่ “สิทธิในการได้รู้” และ “รัฐเปิด” กลับมาเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้ง และโดยที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังดำเนินโครงการศึกษาเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ขององค์กร ผู้เขียนในฐานะบุคลากรสำนักงานอัยการสูงสุด มีความรักในองค์กรและปรารถนาอยากเห็นองค์กรอัยการได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน จึงขอนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อประชาชนผ่านการเสริมสร้างความโปร่งใส

แท้จริงแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดได้บุกเบิกสิ่งดีๆ ให้กับกระบวนการยุติธรรมไทยมาแล้วในหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งที่มีการจัดตั้งสถาบันกฎหมายอาญาช่วงก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และเป็นเพียงหน่วยงานเดียวในกระบวนการยุติธรรมที่ได้ปฏิรูประบบการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้มีตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงหัวใจของกระบวนการยุติธรรม (key performance indicators) ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เพื่อให้สอดรับกับแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม นอกเหนือไปจากนี้ ตลอดปีพุทธศักราช 2563 จนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนและบุคลากรสำนักงานอัยการสูงสุด ล้วนสัมผัสได้ถึงความพยายามของคณะผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ดังที่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในสำนักงานอัยการสูงสุดครั้งใหญ่ เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 เพื่อให้เอื้อต่อการอำนวยความยุติธรรมในทางอาญา การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้มีความพยายามในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ตลอดจนวิธีการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้เข้าถึงและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชน คงไม่อาจสำเร็จได้เพียงแค่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน หรือการปรับภาพลักษณ์องค์กรเท่านั้น หากแต่ต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันกับการสร้างศรัทธา เพิ่มความโปร่งใสตรวจสอบได้ กรณีจึงจะก่อให้เกิดผลลัพธ์คือความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน ดังที่นักการตลาดมักกล่าวกับเราว่า “การเล่าเรื่องที่ดี” ต้องควบคู่ไปกับ “การลงมือทำที่เกิดผลลัพธ์” (“Stories well told” + “Actions well done” จากเว็บไซต์ของ BRANDi)

Advertisement

บนเส้นทางการปฏิรูปและพัฒนาองค์กรเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว หน่วยงานทั้งหลายในกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งสำนักงานอัยการสูงสุดต้องเผชิญความท้าทายสำคัญ เมื่อประชาชนจำนวนมากต่างตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ในปีที่ผ่านมาปรากฏว่าสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ให้ไม่ผ่านเกณฑ์ โดยได้คะแนนเฉลี่ยในปี พ.ศ. 2563 ที่ 71.30 % ลดลงจากปี พ.ศ. 2562 ที่ได้ 90.61 % แม้อาจมีข้อโต้แย้งได้ว่าผลการประเมินดังกล่าวเป็นเพียงปฏิกิริยาต่อเนื่องจากความไม่พอใจของสังคมต่อสำนักงานอัยการสูงสุดกรณีการพิจารณาคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเพียงแค่คดีเดียว กรณีจึงไม่อาจสะท้อนความจริงเกี่ยวกับภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือทั้งในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของสำนักงานอัยการสูงสุดได้ แต่กระนั้นก็ดี บนฐานคิดที่ว่าสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานของประชาชน ความรับรู้ของประชาชนย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งและสมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงใจต่อไป ความรับรู้ดังกล่าว นัยหนึ่งคือภาพสะท้อนว่า สำนักงานอัยการสูงสุดประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนแล้วหรือไม่ และ อีกนัยหนึ่งคือปัจจัยบ่งชี้ว่า สำนักงานอัยการสูงสุดจะได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากประชาชนและสังคมโดยรวมให้ทำหน้าที่หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันเอาทฤษฎีด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลมาทำให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยได้หรือไม่ กล่าวโดยเฉพาะคือ ประชาชนจะมอบความไว้วางใจให้สำนักงานอัยการสูงสุดขยายบทบาท อำนาจหน้าที่ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง หรือไม่

การส่งเสริมภาพลักษณ์และความรับรู้ที่ดีของประชาชนอาจทำได้หลากหลายวิธี แต่ในฐานะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม คงไม่มีภาพลักษณ์ และภาพจำใดจะดีไปกว่าภาพแห่งความสุจริต ยุติธรรม

เมื่อกล่าวถึงการเสริมสร้างความสุจริต ยุติธรรม ตลอดจนการป้องกันปัญหาการทุจริตนั้น    เรามักนึกถึงการเพิ่มกระบวนการกลั่นกรอง ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรตรวจสอบ อันเป็นการเพิ่มขั้นตอนและกระบวนการที่ต้องพึ่งพาดุลยพินิจของบุคคล/คณะบุคคล วิธีการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วในหลากวาระหลายโอกาสว่าไม่อาจป้องกันปัญหาการทุจริตได้จริง ซ้ำร้ายยังอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลร้าย      ยิ่งกว่าปัญหาการทุจริต อันนำมาสู่ข้อถกเถียงว่า สุดท้ายแล้ว ใครจะเป็นคนตรวจสอบเหล่าบรรดานักตรวจสอบเหล่านั้น

Advertisement

ในขณะที่เราพยายามคิดค้นมาตรการต่างๆ มากมายในการป้องกันการทุจริต เรากลับหลงลืมฉวยเอาประโยชน์จากสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดในการสู้กับปัญหาทุจริต นั้นก็คือ “ความโปร่งใส” ดังที่ Louis Brandeis อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาเปรียบเปรยไว้ว่า “แสงอาทิตย์ คือยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุด; แสงสว่างจากไฟฟ้า คือการพิทักษ์สันติราษฎร์ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด” ในยุคสมัยที่ประชาชนเรียกร้องความโปร่งใสจากรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ นั้นหมายความว่าประชาชนพึงมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รู้ (Right to Know) ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ โดยรัฐ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของตนเอง และเพื่อให้ประชาชนเหล่านั้นช่วยกันทำหน้าที่พลเมืองในการสอดส่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ

ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญมากมายกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐ ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายล้วนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร (freedom of information) หรือที่เรียกในอีกแบบหนึ่งว่าสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (right to information)  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทั้งรัฐบาลและประชาชนของประเทศเหล่านั้นต่างเห็นแจ้งว่า สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวคือปัจจัยสำคัญในการสร้างระบบการปกครองแบบเปิดให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ (government openness and accountability) ซึ่งจัดเป็นตัวแปรในการประเมินว่าสังคมนั้นเคารพหลักนิติธรรมเพียงใด ตามแนวทางการประเมินสภาพของหลักนิติธรรมในแต่ละประเทศของ The World Justice Project อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่เคยมีมา  หากปราศจากการเปิดกว้างให้มีเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร มาตรการป้องกันและปราบปราการทุจริตคอรัปชั่นจะไม่มีวันเห็นผล ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบริหารกิจการของรัฐย่อมไม่เกิดขึ้นตามมา เพราะประชาชนไม่มีทางทราบได้ว่าผู้ถืออำนาจรัฐซึ่งมีกฎหมายอยู่ในมือได้กระทำบทบาทหน้าที่โดยสนองตอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนมากน้อยเพียงใด  นอกจากนี้ สหประชาชาติยังมองว่าสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารคือหัวใจของเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) ที่ได้รับการรับรองในปี ค.ศ. 1946 โดยมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 59 และในปี ค.ศ. 1948 ในมาตรา 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และที่น่าสนใจอย่างมากคือ ในปี ค.ศ. 1997 ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะออกกฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐ ได้มีการจัดทำรายงานศึกษาโดยวางหลักการไว้อย่างชัดเจนว่า “ความโปร่งใสคือรากฐานของสุขภาพทางการเมืองของรัฐสมัยใหม่”  ในขณะที่สหประชาชาติมองว่าสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยสันติและโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (peaceful and inclusive society)                                  ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนไว้ใน มาตรา 41 โดยมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายหลักที่บัญญัติถึงหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ และสิทธิของประชาชนอันเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงานอัยการสูงสุด

สำหรับกรณีของสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น จากการศึกษากฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงานอัยการสูงสุด สรุปได้เบื้องต้นดังนี้

1 ขอบเขตข้อมูลข่าวสารที่อนุญาตให้เข้าถึงได้ จากการศึกษากฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พบว่า ในการพิจารณาคำขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสำนวนคดีที่ประชาชนร้องขอต่อพนักงานอัยการนั้น พนักงานอัยการจะวินิจฉัยโดยอ้างอิง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540  และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ อาจสรุปแนวทางได้ ดังนี้

1.1 หัวหน้าพนักงานอัยการ มีหน้าที่พิจารณาคำขอคัดสำเนาเอกสารในฐานะ “ผู้มีหน้าที่อนุญาต”

1.2 กรณีขอคัดสำเนาคำให้การของตนเองชั้นสอบสวน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายหรือจำเลยย่อมมีสิทธิตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตนได้

1.3 กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิขอทราบสรุปพยานหลักฐาน พร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสั่งคดีได้ โดยผู้มีหน้าที่อนุญาตต้องจัดทำสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ขอ

1.4 กรณีขอคัดสำเนาเอกสารอื่นๆ ในสำนวนการสอบสวน อาทิ คำให้การพยานรายอื่น      ในสำนวน, ความเห็นของพนักงานอัยการ ให้หัวหน้าพนักงานอัยการพิจารณาตามความเหมาะสมโดยนำ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ มาพิจารณาประกอบ

2 ช่องทางการเข้าถึงข้อมูล

จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ประชาชนมีช่องทางในการติดต่อขอรับข้อมูลเกี่ยวกับคดีในระดับต่างๆ ดังนี้

2.1 กรณีการขอรับทราบข้อมูลสถานะเกี่ยวกับคดีที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ คำสั่ง ฟ้อง/     ไม่ฟ้อง ของพนักงานอัยการ ผู้เสียหาย/ผู้ต้องหา สามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่สำนักงานอัยการ            ที่รับผิดชอบคดีนอกจากนี้ ปัจจุบัน สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดให้มีระบบติดตามข้อมูลคดีผ่านแอปพลิเคชัน (AGO-Tracking) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการติดตามสถานะคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และการยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์

2.2 กรณีการขอคัดถ่ายสำเนาเอกสารในสำนวน อาทิ คำให้การพยาน และเอกสารในสำนวน ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับคดีได้ด้วยการทำหนังสือขออนุญาตแล้วยื่นต่อสำนักงานอัยการทุกแห่ง

2.3 ในบางกรณี พนักงานอัยการจะแจ้งคำสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงแม้ไม่ได้มีการ     ร้องขอ อาทิ กรณี พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 146 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 กำหนดให้พนักงานอัยการต้องแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องแก่พนักงานสอบสวนหรือแจ้งผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลาง เพื่อแจ้งให้ผู้ต้องหาและผู้ร้องทุกข์ทราบ โดยในมาตรา 146 วรรคสองให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสั่งคดี เป็นต้น

 ข้อสังเกต

จากการศึกษาดังกล่าวข้างต้น ตลอดจนการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ พบว่า สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยราชการที่มีผลงานดีในด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ถูกร้องขอ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกต      ในประเด็นซึ่งอาจนำไปสู่การศึกษาปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงานอัยการสูงสุดให้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนี้

  1. สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนดให้ดุลยพินิจแก่หัวหน้าพนักงานอัยการในการพิจารณา อนุญาต/ไม่อนุญาต ให้ประชาชนตรวจสอบ/คัดถ่ายเอกสารอื่นๆ โดยให้พิจารณาตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 การกำหนดให้มีดุลยพินิจดังกล่าว ในแง่หนึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างมาตรฐานในการใช้ดุลยพินิจของพนักงานอัยการในการพิจารณาเปิดเผยข้อมูลข่าวสารประเภทเดียวกันและมีข้อเท็จจริงแวดล้อมใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ จากการศึกษาคำสั่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ในเบื้องต้น พบว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ในระยะหลังมีแนวทางการวินิจฉัยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและอยู่ในวิสัยที่พอคาดหมายได้ กรณีจึงเห็นว่า สำนักงานอัยการสูงสุดอาจพิจารณาจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practices) เกี่ยวกับการพิจารณาเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานอัยการทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันมากที่สุด
  2. การสื่อสารทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเหตุผลในการสั่งคดีของพนักงานอัยการ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดข้อข้องใจของประชาชนลงได้มาก โดยขอนำเสนอตัวอย่างแนวทางการพัฒนาการสื่อสารเชิงรุกแก่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียให้ได้รับทราบข้อมูลเหตุผลในการสั่งคดีของพนักงานอัยการผ่านการแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ

ถึงแม้ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 146 และ ระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ กำหนดให้พนักงานอัยการต้องแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องแก่พนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งให้ผู้ต้องหาและผู้ร้องทุกข์ทราบ พร้อมทั้งสรุปพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสั่งคดี แต่จากการสัมภาษณ์เบื้องต้นพนักงานอัยการ และนิติกรประจำสำนักงานอัยการสูงสุด มีเหตุให้เชื่อได้ว่า ในทางปฏิบัติ พนักงานสอบสวนจำนวนมากอาจหลงลืมแจ้งคำสั่งและสรุปพยานหลักฐานดังกล่าวให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ ทั้งนี้ โดยทราบได้จากการที่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในคดีจำต้องมาขอคัดเอกสารดังกล่าวจากสำนักงานอัยการด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง

จากความเข้าใจดังกล่าวนำมาสู่ข้อสังเกตว่า หากพนักงานอัยการปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร    กับประชาชน โดยเน้นการสื่อสารทางตรง ดังเช่นตัวอย่างในกรณีการแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องนี้ กรณีอาจช่วยเสริมสร้างความเข้าใจของประชาชนต่อการทำงานของพนักงานอัยการ ลดข้อพิพาทในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใสขององค์กรอัยการอีกด้วย

  1. ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สำนักงานอัยการสูงสุดจัดให้มีระบบติดตามข้อมูลคดีผ่านแอปพลิเคชัน (AGO-Tracking) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการติดตามสถานะคดีที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้อง และการยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์ โดยเริ่มเปิดใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 จากการตรวจสอบเบื้องต้น ปรากฏว่ามีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป็นจำนวนมาก หากแต่มีประชาชนที่ลงทะเบียนและใช้ประโยชน์ในการติดตามผลคดีผ่านระบบดังกล่าวในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย

จากข้อมูลดังกล่าว นำมาสู่ข้อสังเกตว่า ถึงแม้ว่าสำนักงานอัยการสูงสุดจะประสบความสำเร็จในการริเริ่มเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการให้บริการแก่ประชาชน แต่การประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความรับรู้เกี่ยวกับแอปพลิเคชันดังกล่าว ตลอดจนการปรับปรุงระบบให้ตอบสนองประชาชนผู้ใช้บริการ ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดต้องพิจารณาว่าจะปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากระบบติดตามข้อมูลคดีที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารกับประชาชนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจของประชาชนต่อการทำงานของพนักงานอัยการ ได้อย่างไร

สรุป

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สำนักงานอัยการสูงสุดเผชิญความท้าทายสำคัญอันเกี่ยวกับภาพลักษณ์และภาพจำของประชาชน อันอาจส่งผลให้สำนักงานอัยการสูงสุดสูญเสียโอกาสในการผลักดันความคิดที่ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย วิธีการเสริมสร้างภาพลักษณ์และภาพจำด้านความสุจริต เที่ยงธรรม ที่ง่ายที่สุด ใช้ต้นทุนน้อยที่สุดคือการเพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ของพนักงานอัยการ

หากจะกล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมคือ ในทางสากล ระบบอัยการที่ดี คือระบบที่พนักงานอัยการสามารถใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระในการกลั่นกรองคดีที่จะนำขึ้นสู่ศาล โดยพึงพิจารณาฟ้องคดีเฉพาะกรณีที่เห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาตามคำฟ้อง และการฟ้องร้องคดีนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะยิ่งกว่าการไม่ฟ้องร้องดำเนินคดี ระบบอัยการที่ว่านั้น ต่างไปจากระบบที่มักจะยึดถือปฏิบัติกันในทำนองว่า “ฟ้องไปก่อน แล้วค่อยให้ศาลตัดสิน” ซึ่งวิธีปฏิบัติดังกล่าวนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ อย่างไรก็ดี ภายใต้บริบทที่สำนักงานอัยการสูงสุดอาจยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนอย่างเต็มที่ พนักงานอัยการที่ใช้ดุลยพินิจตรงตามหลักการที่ถูกต้อง ก็สุ่มเสี่ยงถูกสังคมมองไปในทางลบ ทั้งที่เป็นการสั่งคดีไปตามหลักการ ตามเนื้อผ้า โดยมิได้ต้องอาศัยความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างใดเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดสามารถสร้างความรับรู้ต่อประชาชนในด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้แล้ว เมื่อนั้นพนักงานอัยการก็จะสามารถฟ้องคดีไปตามเนื้อผ้าได้ โดยมิต้องกังวลว่าประชาชนหรือสังคมจะมีอคติไปในทิศทางใด การสร้างความรับรู้ดังกล่าวจะสำเร็จได้ก็โดยการลงมือทำ เข้าทำนองว่า “การเล่าเรื่องที่ดี” ต้องควบคู่ไปกับ “การลงมือทำที่เกิดผลลัพธ์” (“Stories well told” + “Actions well done”) นั้นเอง

อย่างไรก็ดี ด้วยตระหนักว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญานั้น เกี่ยวพันกับความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวพันกับการดำเนินคดีจึงจำเป็นต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ กรณีจึงไม่เป็นการเกินเลยหากจะกล่าวว่า การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีความ ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลปะในการรักษาสมดุลระหว่างการเสริมสร้างความโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือกระทบต่อสิทธิหรือความปลอดภัยของบุคคลอื่น สภาพการณ์ที่พนักงานอัยการส่วนใหญ่ปรารถนาจึงน่าจะได้แก่สภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีกรอบกติกาและหลักเกณฑ์ที่มีเหตุผลชัดเจน เพื่อที่จักสามารถพิจารณาได้อย่างมั่นใจว่ากรณีใดที่จำเป็นต้องนำข้อยกเว้นมาปฏิเสธการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในคดี ดังที่ได้ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้แล้วข้างต้น

บทความโดย นาย วิพล กิติทัศนาสรชัย และนายรองรัฐ พุ่มคชา สำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image