‘หมอประสิทธิ์’ เชื่อปี’65 โควิดโรคประจำถิ่น-ประชาชนใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ

‘หมอประสิทธิ์’ เชื่อปี’65 โควิดโรคประจำถิ่น-ประชาชนใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในช่วงหนึ่งของงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2564 สื่อไทยในวิกฤตโควิด-19 เข้าใจ เรียนรู้ ปรับตัว จัดโดยสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ทุกวันเสาร์ของเดือนพฤศจิกายน 2564 ล่าสุดในประเด็น “โควิด-19 New normal กับสื่อสารฉากทัศน์อนาคต” เพื่อถอดบทเรียนการสื่อสารในภาวะโรคระบาดโควิด-19 ของประเทศไทย

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีสิ่งที่โลกเรียนรู้แล้ว คือ ภูมิต้านทานที่เกิดจากโควิดจากธรรมชาติ หรือวัคซีนจะอยู่ได้ไม่นาน อยู่ได้หลายเดือนแต่ก็ลง ดังนั้น โอกาสที่จะฉีดบูสเตอร์ซ้ำมีแน่ แต่จะต่างกันแล้ว ตัวอย่างในวันนี้ที่เราฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ไม่จำเป็นต้องฉีดทั้งประเทศเหมือนกับโควิดในตอนนี้ ซึ่งต่อไปหากโควิดเปลี่ยนสถานะจากโรคระบาด (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) การฉีดวัคซีนจะไปในกลุ่มคนที่เสี่ยง ตามความรุนแรง เช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ ที่ตอนนี้เน้นฉีดกลุ่มเสี่ยงอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วม และบุคลากรด้านสุขภาพ แต่คนทั่วไปไม่ฉีดก็ไม่มีข้อห้าม เพราะหากเป็นไข้หวัดใหญ่ นอนพักก็หายได้ โดยอัตราเสียชีวิตไม่สูง

“โควิดปีหน้าเป็นต้นไป ถ้าภาวะการแพร่ระบาดหยุดลง กลายเป็นโรคประจำถิ่น ก็คงจะมีรูปแบบการฉีดวัคซีนเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง มากกว่าสาดปูพรมฉีดทั้งหมดในปีนี้ เป็นตอนนี้ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์โรค แต่เราเห็นกราฟเริ่มขึ้นอีกแล้ว ซึ่งมีการคาดการณ์ในตอนนี้ว่ายังเป็นสโลว์เบิร์น (Slow Burn) คือขึ้นแล้วลง ขึ้นแล้วลงอีก แต่ว่าจะขึ้นไม่สูงเหมือนเดิม และจะลงไปเรื่อยๆ ขณะที่คนทั่วโลกมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น จนกลายเป็นโรคประจำท้องถิ่น” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ระยะถัดไปก็จะมีการติดเชื้อบ้าง แต่เราไม่ต้องตรวจ เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ที่เราใช้วิธีพักอยู่บ้าน แต่ยังต้องใช้เวลาอีกซักพักหนึ่ง ตนเชื่อว่าภายในปี 2565 มีโอกาสสูงที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในหลายประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนให้มากพอ ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ลดการเสียชีวิต คนก็จะไม่เป็นกังวล ขณะเดียวกันการติดเชื้อในแต่ละครั้ง เป็นเหมือนการกระตุ้นวัคซีน หากไม่เจ็บป่วยหนักก็จะไม่น่ากังวล

Advertisement

“เชื่อว่าปีหน้าจะมีหลายประเทศย่างเท้าเข้าไปสู่การก้าวเป็นโรคประจำท้องถิ่น” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้จุดเน้นของโควิดเปลี่ยนไปเพราะมีการฉีดวัคซีน ตรวจด้วย ATK ส่วนตัวจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเลขรายใหม่ ที่แกว่งขึ้นลง แต่ตัวเลขที่เราสนใจ คือ ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากทำให้เรารู้ว่าอัตราเสียชีวิตจะลดหรือไม่ ซึ่งจะย้อนกลับไปได้ว่ามีคนติดเชื้อในสังคมมากแค่ไหน ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาการหนักของไทยลดลงต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ จากผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีกว่า 2 พัน ก็ลดลงเหลือ 400 กว่าราย โดยเช่น อิสราเอล สิงคโปร์ ใช้สิ่งนี้เป็นตัวตั้ง แต่เราจะเห็นตัวเลขบางอย่างที่เริ่มไม่ค่อยดีนัก เช่น เยอรมนี ที่ข้อมูลเมื่อวานนี้ (12 พ.ย.) ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวกว่า 5 หมื่นราย เสียชีวิตใน 3 หลัก ทำลายสถิติ เราต้องติดตามดู เพราะมีโอกาสเจอไวรัสกลายพันธุ์ได้อีก

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวอีกว่า หากต้องอยู่ร่วมกับโควิด จะต้องพูดถึงโรคประจำถิ่น 2 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเรารู้จักโรค และโรคไม่ได้หายไปไหน เมื่อมีคนป่วยเราก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข สื่อสารข้อมูลการระบาดรายปี เพื่อให้ประชาชนป้องกัน ระวังตัวเอง ทันทีที่สงสัยว่าเป็น ก็ให้รีบไปหาหมอเพื่อทำการรักษา ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สถานการณ์ไข้เลือดออกดีที่สุดในเอเชียตะวันเฉียงใต้ ทั้งนี้ การป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เราไม่รู้สึกแปลกที่ต้องใส่เดินตามถนน และมีประโยชน์ในการป้องกันโรคติดต่อทางระบบหายใจได้

Advertisement

“ปี 2009 มีไข้หวัดหมู ทุกคนกลัวแต่ก็จบไป โควิดก็เหมือนกัน ทันทีที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น ฉีดวัคซีนมากพอแล้ว เชื่อว่าเราจะกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงเดิม เพราะมีบางอย่างที่เราได้มา เช่น การรักษาแพทย์ทางไกล เป็นสิ่งที่เราไปข้างหน้าแล้วไม่ต้องย้อนกลับมา เป็นผลดีจากการที่เราต้องปรับตัวจากโควิด เราไม่รู้จะมีโควิด 28 หรือ 30 หรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นการเตรียมพร้อมไว้” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อยากฝากให้ทุกคนติดตามข้อมูลต่อเนื่อง ทั้งสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป แม้กระทั่งวัคซีนชนิด mRNA ที่ระยะแรกไม่มีใครพูดถึงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่เมื่อฉีดไปมากขึ้นเราก็เริ่มเจอ ดังนั้น เราต้องตั้งมั่นติดตามข่าว โดยการข่าวที่มีทั้งจริงและไม่จริงก็จะเกิดความสับสน เราจึงต้องช่วยกัน เพื่อข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ส่วนรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาให้ข้อมูลที่เป็นจริง เป็นระยะผ่านหลายช่องทางตามกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน ให้ครบทุกช่องทาง ก็จะทำให้ประเทศมีความสงบมากขึ้น แม้จะมีการระบาดใหม่เกิดขึ้น แต่เราสามารถควบคุมได้ ถึงตอนนั้นเราคงกลับไปนั่งรับประทานอาหารได้ปกติ ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ไปดูการแข่งกีฬาได้ตามปกติ

“เราต้องช่วยกัน ผมเชื่อว่าไม่นานจนเกินไป และผมยังเชื่อว่าภายในปีหน้า เราน่าจะกลับมามีชีวิตสงบมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image