สธ. – สปสช. ร่วมพัฒนาระบบสารสารสนเทศ เชื่อมข้อมูลบริการสุขภาพปฐมภูมิ

สธ. – สปสช. ร่วมพัฒนาระบบสารสารสนเทศ เชื่อมข้อมูลบริการสุขภาพปฐมภูมิ

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ ตามพระราชบัญญัติ (พ.รงบ.) ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 โดยมี นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัด สธ. นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. ร่วมเป็นสักขีพยาน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สธ.มีนโยบายมุ่งเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ลดระยะเวลารอคอย ลดค่าใช้จ่าย และสามารถดูแลตนเองและครอบครัวเบื้องต้นเมื่อมีอาการเจ็บป่วยได้ โดยในปี 2565 ตั้งเป้าเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิเป็น 3,000 หน่วย โดยเปิดดำเนินการเต็มพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 1 อำเภอ และให้คนไทยมีหมอประจำตัว 3 คน อีก 30 ล้านคน รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับการดูแลสุขภาพ

Advertisement

“สำหรับการลงนามความร่วมมือในวันนี้ เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศร่วมกับ สปสช. เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการและบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูล โดยจัดทำทะเบียนผู้รับบริการ หน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เพิ่มความสะดวกในการจัดทำบัญชีรายชื่อแพทย์คู่กับประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้การดูแล รักษา ให้คำปรึกษาและประสานการส่งต่อเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการ รายชื่อแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้ประชาชนทราบรายชื่อหมอประจำตัวของตนเอง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ ปลัด สธ.กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานปลัด สธ. จะสนับสนุนข้อมูลหน่วยบริการและเครือข่าย
ข้อมูลแพทย์ และคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ นำไปเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลประชากรของ สปสช. ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลร่วมกันตามภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบครั้งนี้

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้ เป็นความก้าวหน้าอีกครั้งในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระดับบุคคลที่จำเป็น ทำให้แพทย์และคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ สามารถใช้ข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน แม้ผู้ป่วยไปรับบริการที่หน่วยบริการอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ แพทย์ประจำครอบครัวยังสามารถรับรู้ข้อมูลสุขภาพของประชาชนในความรับผิดชอบของตนได้ ส่งผลให้เกิดระบบการดูแลที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image